Google

Thursday, October 22, 2009

Soviet Union : Supreme Soviet

สหภาพโซเวียต : รัฐสภา

สภานิติบัญญัติแห่งชาติที่เป็นแบบสองสภา รัฐธรรมนูญโซเวียตกำหนดไว้ว่า รัฐสภาเป็นองค์กรสูงสุดแห่งอำนาจรัฐ และกำหนดให้มีอำนาจหน้าที่ในการตรากฎหมายและดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ สภาโซเวียตแห่งเชื้อชาติซึ่งเป็นสภาสูงมีสมาชิกราว 750 คน ทำหน้าที่เป็นผู้แทนของหน่วยบริหารจัดการต่าง ๆ ของชาติ เช่น สาธารณรัฐใหญ่ (คอนสทิททิวเอนท์ รีพับลิก) สาธารณรัฐปกครองตนเอง (ออโนโนมัส รีพับลิก) เขตปกครองตนเอง (ออโตโนมัสรีจัน) และตำบลแห่งชาติ (เนชั่นแนล ดิสตริก) ส่วนสภาล่างเรียกว่า โซเวียต ออฟ เดอะยูเนียน มีผู้แทน ราว 767 คน เป็นผู้แทนมาจากแต่ละเขตเลือกตั้งซึ่งมีประชากรเขตละประมาณ 3 แสนคน ผู้แทนแต่ละคนจะได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนของหน่วยที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีลักษณะแตกต่างจากสภาพรรคทุกสหภาพ ผู้แทนหลายคนเป็นนักบริหารในพรรค ในภาครัฐบาล ในกองทัพ นอกจากนี้แล้วก็ยังมีผู้แทนในเปอร์เซ็นต์ที่สูงจากกรรมกรผู้ใช้แรงงานและชาวนา ตลอดจนบุคคลสำคัญ ๆ ในด้านศิลปะ วิทยาศาสตร์ และอักษรศาสตร์ อำนาจหน้าที่ของสองสภามีเท่าเทียมกัน รัฐสภาจะประชุมกันทุก 6-8 เดือน โดยมีสมัยการประชุมแค่ช่วงสั้น ๆ และด้วยเหตุนี้เองจึงไม่สามารถกล่าวได้ว่าเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่อภิปรายถกแถลงในความหมายของฝ่ายตะวันตกได้ รัฐสภามีหน้าที่ดังนี้ (1) แต่งตั้งสภารัฐมนตรีอันเป็นคณะผู้บริหารขององค์กรภาครัฐบาล และ (2) แต่งตั้งคณะผู้บริหารสูงสุดของตนเองมาทำหน้าที่วินิจฉัยสั่งการในช่วงว่างเว้นสมัยประชุมที่ ยาวนานของรัฐสภา ประธานของคณะผู้บริหารสูงสุดของรัฐสภาจะทำหน้าที่เป็นประมุขแห่งรัฐ (หรือประธานาธิบดี)

ความสำคัญ จากการที่รัฐสภามีลักษณะตั้งอยู่กึ่งกลางในโครงสร้างของภาครัฐบาล ทำให้เกิดภาพลักษณ์ว่าเป็นการปกครองแบบประชาธิปไตยระบบรัฐสภา แต่ภาพลักษณ์นี้เบี่ยงเบนจากความเป็นจริง ทั้งนี้เพราะว่าพรรคฝ่ายค้านในแบบตะวันตกจะไม่ได้รับการยอมรับให้มาทำหน้าที่อยู่ภายในระบบของโซเวียตนี้ได้ ยิ่งไปกว่านั้นแล้วรัฐสภาก็ยังเป็นแค่องค์กรที่ให้ความเห็นชอบกฎหมายยิ่งกว่าจะเป็นองค์กรสร้างกฎหมายเสียเอง ตรงที่รัฐสภานี้เองที่การตกลงใจของพวกผู้นำในพรรคและขององค์กรบริหารของภาครัฐบาลได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการ การเลือกตั้งเข้ามาเป็นสมาชิก ของรัฐสภานี้มักได้รับการยอมรับว่าเป็นการมารับใช้พรรคคอมมิวนิสต์และรับใช้สังคมโซเวียต

No comments:

Post a Comment