Google

Friday, October 23, 2009

Britain : Constitution

อังกฤษ : รัฐธรรมนูญ

ประมวลหลักการพื้นฐานที่ (1) ใช้ดำเนินการแบ่งปันและการใช้อำนาจ (2) ใช้กำหนดองค์กรพื้นฐานของการปกครองและการดำเนินงานขององค์กรเหล่านี้ และ (3) ใช้กำหนดสัมพันธภาพระหว่างปัจเจกบุคคลกับรัฐ ในประเทศอังกฤษรัฐธรรมนูญประกอบด้วย (1) เอกสารทางประวัติศาสตร์ต่าง ๆ ที่เป็นตัวกำหนดระบบมาแต่ครั้งอดีต เช่น แม็กนาคาร์ตา (ค.ศ. 1215) เพตติชันออฟไรท์ (ค.ศ. 1628) บิลล์ออฟไรท์ (1689) แอคท์ออฟเซทเทิลเมนท์ (1701) รีฟอร์มแอคท์และพาร์เลียเมนท์แอคท์ ค.ศ. 1911 (2) บทบัญญัติทางกฎหมายที่มีความสำคัญในระดับพื้นฐาน เช่น บทบัญญัติว่าด้วยสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง (3) คำตัดสินของศาลที่เป็นการตีความและให้ความกระจ่างเกี่ยวกับหลักการของรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือหลักการที่อิงหลักคอมมอนลอว์ (ในอังกฤษจะไม่มีจูดิเชียลรีวิว =การพิจารณาทบทวนโดยศาล) อย่างเช่นที่มีในระบบอเมริกันเพราะระบบของอังกฤษเป็นแบบรัฐสภามีอำนาจสูงสุด และ (4) ประเพณีหรือจารีตแห่งรัฐธรรมนูญ ซึ่งอย่างหลังคือข้อ (4) นี้จะไม่มีการเขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษรและทั้งไม่สามารถนำไปให้ศาลบังคับใช่ได้ด้วย แต่ก็เป็นบรรทัดฐานที่มีความสำคัญผูกมัดจิตใจของสาธารณชนให้ต้องปฏิบัติตาม บรรทัดฐานของจารีตประเพณีอย่างหนึ่งก็คือ รัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีอาจต้องลาออกเมื่อไม่เห็นด้วยอย่างเปิดเผยกับนโยบายของรัฐบาล


ความสำคัญ ประชาธิปไตยทุกรูปแบบล้วนมีรัฐธรรมนูญที่มีเครื่องมือขั้นพื้นฐานดังกล่าวข้างต้นสำหรับจัดตั้งและธำรงระบบอย่างใดอย่างหนึ่งเอาไว้ ข้อแตกต่างอย่างสามัญระหว่างรัฐธรรมนูญของ สหรัฐอเมริกาและรัฐธรรมนูญของอังกฤษที่บอกว่าของสหรัฐฯเป็นแบบมีลายลักษณ์อักษรส่วนของอังกฤษเป็นแบบไม่มีลายลักษณ์อักษรนั้น เป็นการเปรียบเทียบในแบบผิวเผินเท่านั้น ในระบบของอังกฤษนั้นมีหลักการสำคัญอย่างหนึ่งคือผู้คุ้มครองเด็ดขาดของรัฐธรรมนูญได้แก่รัฐสภาซึ่งมีอำนาจ สูงสุด สามารถเปลี่ยนแปลงบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญได้ในทำนองเดียวกับการเปลี่ยนแปลงกฎหมายอื่นใด ผลจากหลักการนี้เองทำให้ในอังกฤษไม่มีจูดิเชียลรีวิว (การพิจารณาทบทวนโดยศาล) เหมือนอย่างที่มีในระบบอเมริกัน ระบบรัฐธรรมนูญของอังกฤษได้ผ่านวิวัฒนาการมาหลายศตวรรษและทำหน้าที่เป็นแม่แบบสำหรับสังคมประชาธิปไตยต่าง ๆ ในหลายประเทศ

No comments:

Post a Comment