Google

Friday, October 23, 2009

Britain : Cabinet

อังกฤษ : คณะรัฐมนตรี

กลุ่มนักการเมืองที่เป็นแกนกลางของการปกครองของอังกฤษ คณะรัฐมนตรีนี้จะมีขนาดแตกต่างกันไปโดยมีจำนวนรัฐมนตรีตั้งแต่ 16 คนขึ้นไปจนถึง 23 คน จะได้รับการคัดเลือกโดยนายกรัฐมนตรีจากหมู่สมาชิกระดับแนวหน้าของพรรคการเมืองที่ครองเสียงข้างมากในสภาสามัญ และปกติจะมีสมาชิกของสภาขุนนางรวมอยู่ในคณะรัฐมนตรีจำนวน 2-3 คนด้วย และตามปกติในคณะรัฐมนตรีจะมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและเครือจักรภพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและวิทยาศาสตร์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสำคัญอื่น ๆ ส่วนฝ่ายค้านอย่างเป็นทางการในรัฐสภานั้นก็จะประกอบกันเป็นคณะรัฐมนตรีเงา ทำหน้าที่เป็นแกนนำในการท้าทายนโยบายและการนำนโยบายไปปฏิบัติของฝ่ายรัฐบาล

ความสำคัญ ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีได้รับการรับรองในบทบัญญัติของกฎหมาย แต่กุญแจที่จะไขไปสู่อำนาจของนายกรัฐมนตรีและของคณะรัฐมนตรีเป็นไปตามหลักจารีตประเพณีและข้อเท็จจริงทางการเมือง คณะรัฐมนตรีจะเป็นฝ่ายกำหนดนโยบายในด้านความสัมพันธ์กับรัฐสภาโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นส่วนของพรรคการเมืองที่ครองเสียงข้างมากและในส่วนที่เกี่ยวกับกิจการสาธารณะ นอกจากนี้แล้วคณะรัฐมนตรีก็ยังต้องควบคุมกิจการอื่น ๆ ของรัฐบาล ทำการควบคุมการบริหารงานของส่วนกลาง และควบคุมด้านการเงินการคลังของรัฐบาลผ่านทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบบการเมืองของอังกฤษไม่เหมือนกับระบบการเมืองของสหรัฐอเมริกาตรงที่ระบบการเมืองของสหรัฐฯนั้นอำนาจและความรับผิดชอบทางการบริหารจะไปรวมอยู่ในที่เดียวกันและอยู่กับบุคคลคนเดียว แต่ระบบคณะรัฐมนตรีของอังกฤษนี้จะให้คณะผู้ปกครองทำหน้าที่รับผิดชอบอย่างมีเอกภาพและร่วมกันแม้ว่าในช่วงไม่กี่ปีมานี้ยากที่จะคงความมีเอกภาพนี้ไว้ก็ตาม ถึงแม้ว่าระบบคณะรัฐมนตรีของอังกฤษจะกำหนดให้มีคณะผู้บริหารหลายคนและให้ทั้งคณะรับผิดชอบร่วมกัน แต่ตัวนายกรัฐมนตรีถือว่าเป็นคนแรกในหมู่คนที่มีความเท่าเทียมกัน (ภาษาละตินว่า ไพรมัส อินเทอร์ พาริส)

Britain : Cabinet Government

อังกฤษ : การปกครองระบบรัฐสภา

ระบบการปกครองที่อิงหลักการรวมอำนาจบริหารและอำนาจนิติบัญญัติให้มาอยู่ในมือของคณะรัฐมนตรีที่ทำงานโดยสอดประสานไปกับหลักความมีอำนาจสูงสุดของรัฐสภา คณะรัฐมนตรีซึ่งตามปกติจะได้รับการคัดเลือกจากบรรดาผู้นำของพรรคการเมืองที่ครองเสียงข้างมากจะมีความรับผิดชอบร่วมกัน (1) ในการกำหนดและดำเนินนโยบายทั้งภายในและต่างประเทศ (2) ในการประสานงานของหน่วยงานต่างๆของภาครัฐบาล (3) ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ และ (4) ในการธำรงวัตถุประสงค์ของนโยบายระยะยาวเอาไว้ มาตรการต่าง ๆ ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้วนั้นจะถูกนำเสนอและปกป้องในสภาสามัญโดยคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง มาตรการต่างๆปกติแล้วจะผ่านสภาสามัญไปได้ด้วยดีเพราะว่าคณะรัฐมนตรีเป็นผู้นำพรรคที่คุมสภาสามัญอยู่แล้ว แต่เนื่องจากพรรคฝ่ายค้านมักจะจ้องฉวยโอกาสจากความแตกแยกภายในคณะรัฐบาลไปเป็นประโยชน์แก่ฝ่ายตนเสมอ ดังนั้นหลักการของระบบนี้ก็จึงมีธรรมเนียมให้คณะรัฐมนตรีต้องมีเอกภาพและมีความรับผิดชอบร่วมกันต่อการตกลงใจทุกอย่าง แม้ว่าในทางปฏิบัติจริงนั้นจะยังคงให้รัฐมนตรีต้องรับผิดชอบเป็นรายบุคคลก็ตาม หากคณะรัฐมนตรีแพ้มติความไม่ไว้วางใจในสภาสามัญก็จะต้องลาออกทั้งคณะ ซึ่งเมื่อเกิดกรณีนี้ขึ้นมาพระมหากษัตริย์ก็อาจเรียกร้องให้ผู้นำฝ่ายค้านหรือรัฐบุรุษ ชั้นนำอื่น ๆ มาจัดตั้งรัฐบาลใหม่หรือไม่นายกรัฐมนตรีก็อาจจะกราบบังคมทูลพระมหากษัตริย์ให้ทรง ยุบสภาไปเลยก็ได้ หากเป็นเช่นกรณีหลังนี้ก็อาจจะมีการเลือกตั้งทั่วไปเพื่อเป็นการตัดสินว่าจะให้พรรคการเมืองของนายกรัฐมนตรีคนเดิมกลับมามีอำนาจอีก หรือว่าจะเลือกพรรคการเมืองใหม่ที่ครองเสียงข้างมากให้มาจัดตั้งรัฐบาลใหม่

ความสำคัญ อำนาจเด็ดขาดของสภาสามัญที่จะล้มล้างรัฐบาลนั้นจะถูกคานด้วยอำนาจของรัฐบาลในอันที่จะยุบสภา แม้ว่าในทางทฤษฎีก็เป็นไปได้ที่คณะรัฐมนตรีจะใช้วิธีการข่มขู่ว่าจะตอบโต้ด้วยวิธีการยุบสภาแต่ในความเป็นจริงแล้วจะเป็นเช่นนั้นได้ก็ต่อเมื่อสมาชิกในพรรคมีวินัยและมีความจงรักภักดีต่อพรรคจนสามารถครองเสียงข้างมากอยู่ต่อไปได้ แต่ก็ไม่มีรัฐบาลชุดใดในศตวรรษนี้ที่ถูกล้มล้างด้วยการแปรพักตร์ในหมู่สมาชิกของพรรคในสภาสามัญ การเปลี่ยนแปลงในรัฐบาลที่เคยเกิดขึ้นมาได้นั้นเกิดขึ้นได้เมื่อพรรคที่ครองอำนาจพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งทั่วไป การเลือกตั้งทั่วไปจะต้องจัดให้มีขึ้นในทุก 5 ปี เว้นเสียแต่นายกรัฐมนตรีจะให้มีการเลือกตั้งทั่วไปเร็วกว่ากำหนดเพื่อต่ออายุความชอบธรรมในการปกครองพรรคตนเองต่อไปอีก ลักษณะสำคัญของการปกครองในระบอบรัฐสภาของอังกฤษก็คือความรับผิดชอบที่จะเสนอแนะและดำเนินนโยบายจะอยู่กับนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีที่ได้รับการคัดเลือกจากรัฐสภาและก็จะต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภานี้ด้วย ระบบรัฐสภานี้จะช่วยไม่ให้เกิดทางตันระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารอย่างที่เกิดขึ้นในระบบประธานาธิบดีของอเมริกัน เมื่อฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติถูกควบคุมโดยพรรคการเมืองต่างพรรคกัน

Britain : Conservative Party

อังกฤษ : พรรคอนุรักษนิยม

หนึ่งในสองพรรคการเมืองใหญ่ในการเมืองของอังกฤษ พรรคอนุรักษนิยมแต่เดิมมาเป็นพรรคของพวกอภิสิทธิชนและของพวกชนชั้นกลาง โดยสืบสานต่อมาจากพวกโทรีโบราณ ด้วยเหตุนี้ในบางครั้งเราเรียกชื่อพวกนี้อีกอย่างหนึ่งว่าพวกโทรี พรรคอนุรักษนิยมมักจะได้คะแนนเสียงจากผู้ลงคะแนนเสียงทุกสาขาอาชีพ พรรคอนุรักษนิยมดำเนินงานอยู่ภายใต้หัวหน้าพรรคซึ่งเป็นผู้ที่จะใช้อำนาจส่วนตัวทำการควบคุมกิจการต่าง ๆ ของพรรคอย่างกว้างขวางมาก หัวหน้าพรรคจะเป็นผู้กำหนดนโยบายของพรรค ทำการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ชั้นสูงของพรรค เลือกเฟ้นคณะรัฐมนตรีเงาในเมื่อพรรคเป็นฝ่ายค้านและก็ไม่ต้องพึ่งการเลือกตั้งใหม่ประจำปีของพรรคในรัฐสภาเพื่อดำรงตำแหน่งของตนไว้ ในภายนอกรัฐสภานั้นพรรคอนุรักษนิยมจะดำเนินการผ่านทางสายงานของสถาบันต่าง ๆ ต่อไปนี้ คือ (1) สมาคมเลือกตั้งระดับท้องถิ่น (2) สหภาพแห่งชาติและการประชุมประจำปีของสหภาพ (3) สภาส่วนกลาง (4) คณะกรรมาธิการฝ่ายบริหาร และ (5) หัวหน้าพรรคซึ่งอยู่ในตำแหน่งสูงสุดในโครงสร้างของพรรค ส่วนในรัฐสภานั้นหัวหน้าพรรคก็ยังสามารถมีอำนาจเหนือพรรคในรัฐสภา (คือ สมาชิกรัฐสภาของพรรคอนุรักษนิยมทุกคน) ตราบเท่าที่หัวหน้าพรรคยังได้รับความไว้วางใจจากสมาชิกฯ และยังไม่มีคู่แข่งมาชิงเอาตำแหน่งไปเสียก่อน


ความสำคัญ พรรคอนุรักษนิยมนี้เมื่อเทียบกับพรรคการเมืองอื่น ๆ ก็จะเห็นว่าเป็นพรรคที่มีความยืดหยุ่นและมีความหลากหลายในปรัชญาและแนวทางปฎิบัติ แต่ท่าทีนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปมากในช่วงที่นางมาร์กาเรต แทตเชอร์เป็นผู้นำพรรค จากประวัติศาสตร์ที่เคยเกี่ยวพันกับสถาบันกษัตริย์มาอย่าง ลึกล้ำจึงทำให้พรรคอนุรักษนิยมต้องการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์เอาไว้ด้วยเห็นว่าจะเอื้อประโยชน์สูงสุดแก่การเมืองของอังกฤษ พรรคอนุรักษนิยมซึ่งเป็นพรรคที่ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์และสถาบันศาสนาในช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 20 ได้มีนโยบายให้การสนับสนุนผลประโยชน์ของภาคธุรกิจและภาคเกษตรกรรม พรรคอนุรักษนิยมได้ครอบงำการเลือกตั้งในอังกฤษมาตลอดช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 นี้ จะมีว่างเว้นบ้างก็เพียงบางช่วงเท่านั้นเอง

Britain : Constitution

อังกฤษ : รัฐธรรมนูญ

ประมวลหลักการพื้นฐานที่ (1) ใช้ดำเนินการแบ่งปันและการใช้อำนาจ (2) ใช้กำหนดองค์กรพื้นฐานของการปกครองและการดำเนินงานขององค์กรเหล่านี้ และ (3) ใช้กำหนดสัมพันธภาพระหว่างปัจเจกบุคคลกับรัฐ ในประเทศอังกฤษรัฐธรรมนูญประกอบด้วย (1) เอกสารทางประวัติศาสตร์ต่าง ๆ ที่เป็นตัวกำหนดระบบมาแต่ครั้งอดีต เช่น แม็กนาคาร์ตา (ค.ศ. 1215) เพตติชันออฟไรท์ (ค.ศ. 1628) บิลล์ออฟไรท์ (1689) แอคท์ออฟเซทเทิลเมนท์ (1701) รีฟอร์มแอคท์และพาร์เลียเมนท์แอคท์ ค.ศ. 1911 (2) บทบัญญัติทางกฎหมายที่มีความสำคัญในระดับพื้นฐาน เช่น บทบัญญัติว่าด้วยสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง (3) คำตัดสินของศาลที่เป็นการตีความและให้ความกระจ่างเกี่ยวกับหลักการของรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือหลักการที่อิงหลักคอมมอนลอว์ (ในอังกฤษจะไม่มีจูดิเชียลรีวิว =การพิจารณาทบทวนโดยศาล) อย่างเช่นที่มีในระบบอเมริกันเพราะระบบของอังกฤษเป็นแบบรัฐสภามีอำนาจสูงสุด และ (4) ประเพณีหรือจารีตแห่งรัฐธรรมนูญ ซึ่งอย่างหลังคือข้อ (4) นี้จะไม่มีการเขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษรและทั้งไม่สามารถนำไปให้ศาลบังคับใช่ได้ด้วย แต่ก็เป็นบรรทัดฐานที่มีความสำคัญผูกมัดจิตใจของสาธารณชนให้ต้องปฏิบัติตาม บรรทัดฐานของจารีตประเพณีอย่างหนึ่งก็คือ รัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีอาจต้องลาออกเมื่อไม่เห็นด้วยอย่างเปิดเผยกับนโยบายของรัฐบาล


ความสำคัญ ประชาธิปไตยทุกรูปแบบล้วนมีรัฐธรรมนูญที่มีเครื่องมือขั้นพื้นฐานดังกล่าวข้างต้นสำหรับจัดตั้งและธำรงระบบอย่างใดอย่างหนึ่งเอาไว้ ข้อแตกต่างอย่างสามัญระหว่างรัฐธรรมนูญของ สหรัฐอเมริกาและรัฐธรรมนูญของอังกฤษที่บอกว่าของสหรัฐฯเป็นแบบมีลายลักษณ์อักษรส่วนของอังกฤษเป็นแบบไม่มีลายลักษณ์อักษรนั้น เป็นการเปรียบเทียบในแบบผิวเผินเท่านั้น ในระบบของอังกฤษนั้นมีหลักการสำคัญอย่างหนึ่งคือผู้คุ้มครองเด็ดขาดของรัฐธรรมนูญได้แก่รัฐสภาซึ่งมีอำนาจ สูงสุด สามารถเปลี่ยนแปลงบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญได้ในทำนองเดียวกับการเปลี่ยนแปลงกฎหมายอื่นใด ผลจากหลักการนี้เองทำให้ในอังกฤษไม่มีจูดิเชียลรีวิว (การพิจารณาทบทวนโดยศาล) เหมือนอย่างที่มีในระบบอเมริกัน ระบบรัฐธรรมนูญของอังกฤษได้ผ่านวิวัฒนาการมาหลายศตวรรษและทำหน้าที่เป็นแม่แบบสำหรับสังคมประชาธิปไตยต่าง ๆ ในหลายประเทศ

Britain : Crown

อังกฤษ : พระมหากษัตริย์

เอกภาพทางกฎหมายและทางสัญลักษณ์ของฝ่ายบริหารในระบอบการปกครองของอังกฤษ พระมหากษัตริย์ประกอบด้วยองค์กษัตริย์ คณะรัฐมนตรี และข้าราชการพลเรือน อำนาจของพระมหากษัตริย์ประกอบด้วยพระราชอำนาจที่ยังคงเหลืออยู่และพระราชอำนาจที่ทางรัฐสภาทูลเกล้าฯถวายในภายหลัง พระมหากษัตริย์จะทำหน้าที่ (1) กำหนดและดำเนินนโยบายแห่งชาติ (2) ออกคำสั่งฝ่ายบริหารและคำแนะนำของฝ่ายบริหาร (3) บริหารสาธารณสมบัติ และ (3) ดำเนินความสัมพันธ์ต่างประเทศ อำนาจหน้าที่ของพระมหากษัตริย์นี้จะนำมาใช้เพื่อ (1) ดำเนินการทางฝ่ายบริหารที่สำคัญ ๆ (2) แต่งตั้งตุลาการและเจ้าหน้าที่สำคัญของรัฐบาล (3) ประกาศสงคราม และ (4) ประกาศอภัยโทษและชะลอการลงโทษ

ความสำคัญ กษัตริย์เป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจทางการเมืองของพระมหากษัตริย์ แต่ในความเป็นจริงนั้นอำนาจนี้อยู่ในมือของคณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี การตกลงใจและคำสั่งทั้งหลายโดยทางเทคนิคนั้นมาจากองค์พระมหากษัตริย์ แต่ในความเป็นจริงนั้นพระมหากษัตริย์มิได้ทรงใช้อำนาจพระมหากษัตริย์นี้ด้วยพระองค์เอง แต่ทรงใช้อำนาจนี้โดยคำแนะนำของบรรดารัฐมนตรีของพระองค์

Britain : Foreign Secretary

อังกฤษ : รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

สมาชิกชั้นแนวหน้าของคณะรัฐมนตรีที่รับผิดชอบในด้านการกำหนดและการดำเนินนโยบายต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะทำการปกป้องนโยบายด้านนี้ของรัฐบาลในสภาสามัญหรือในสภาขุนนาง โดยจะเข้าร่วมในการอภิปรายและในกรณีที่อยู่ในสภาสามัญก็จะคอยตอบโต้การโจมตีนโยบายและคอยตอบกระทู้ถามเมื่อมีการตั้งกระทู้ถาม นอกจากนี้แล้วรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศก็จะเป็นผู้บริหารกระทรวงการต่างประเทศและเป็นผู้แทนประเทศเข้าประชุมในระดับระหว่างประเทศต่าง ๆ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะมีผู้ช่วย คือ รัฐมนตรีช่วยว่าการ 2 คน รัฐมนตรีอาวุโสน้อย 2 คน (ทั้งสองคนเป็น สมาชิกสภาสามัญ) และปลัดกระทรวง 1 คน ซึ่งปลัดกระทรวงผู้นี้คือข้าราชการพลเรือนมืออาชีพที่มีตำแหน่งสูงสุดในกระทรวงการต่างประเทศ

ความสำคัญ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศปกติแล้วจะเป็นบุคคลที่มีความสำคัญทางการเมืองมาก ๆ เป็นรัฐมนตรีที่ต้องรับผิดชอบต่อคณะรัฐมนตรี ต่อรัฐสภาและต่อนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะมีอิสระในการทำงานมากน้อยอย่างไรขึ้นอยู่กับว่าเขาเป็นบุคคลมีความสัมพันธ์กับนายกรัฐมนตรี เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของสาธารณชนและมีอิทธิพลทางการเมืองเป็นอย่างไรบ้าง อย่างไรก็ตามมักเป็นไปได้ที่นายกรัฐมนตรีจะเข้าควบคุมและชี้นำนโยบายต่างประเทศในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งได้ ความต่อเนื่องในนโยบายต่างประเทศของอังกฤษมีอยู่ได้ก็เพราะมีการปรึกษาหารือกันระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกับข้าราชการประจำของกระทรวง ซึ่งข้าราชการประจำก็จะรับผิดชอบในการให้คำแนะนำและให้คำเตือนแต่ก็ไม่ถึงกับไปช่วยสร้างนโยบายแทนรัฐมนตรี กระทรวงการต่างประเทศเป็นกระทรวงอยู่ในระดับสูงมาก สามารถเป็นฐานส่งผู้นำพรรคการเมืองอังกฤษขึ้นไปดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ และในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่ว่าจะเป็นนายอีเดน นายแมคมิลแลน นายโฮม และนายคัลลักแฮน ล้วนเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศทั้งนั้น

Britain : Governor-General

อังกฤษ : ผู้สำเร็จราชการ

ผู้แทนส่วนพระองค์ขององค์พระมหากษัตริย์ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในดินแดนอาณานิคมที่ยังเหลืออยู่ของอังกฤษและในประเทศในเครือจักรภพอังกฤษที่มิได้เป็นสาธารณรัฐ องค์พระมหากษัตริย์จะทรงขอคำแนะนำจากรัฐมนตรีท้องถิ่นก่อนที่จะทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการ

ความสำคัญ ผู้สำเร็จราชการเป็นสัญลักษณ์ของความมีเอกภาพในเครือจักรภพและในจักรวรรดิอังกฤษ ในอดีตจะแต่งตั้งคนอังกฤษที่มีความโดดเด่นมากๆเป็นผู้สำเร็จราชการ แต่ปัจจุบันผู้สำเร็จราชการนี้นิยมคัดเลือกจากบุคคลสำคัญ ๆ ในท้องถิ่นนั้น ๆ ทั้งนี้ก็อยู่ที่ว่าการพัฒนาทางการเมืองของพื้นที่แห่งนั้นเป็นอย่างไร ผู้สำเร็จราชการไม่ได้เป็นตัวแทนของคณะรัฐมนตรีในประเทศเครือจักรภพที่ได้รับเอกราชไปแล้ว เพียงแต่เป็นผู้ใช้พระราชอำนาจโดยคำแนะนำของรัฐบาลท้องถิ่นเท่านั้นเอง

Britain : House of Commons

อังกฤษ : สภาสามัญ

สภาล่างแต่มีอำนาจมากในสองสภาของรัฐสภาอังกฤษ สภาสามัญจะประชุมกันบ่อยกว่าและจะพิจารณาหัวข้อที่มีความซับซ้อนกว้างขวางกว่าสภาขุนนาง สภาสามัญมีลักษณะเป็นองค์กรที่เป็นตัวแทนและมีสมาชิกได้รับการเลือกตั้งโดยบุคคลที่มีสิทธิเลือกตั้งโดยทั่วไปจากหน่วยเลือกตั้งต่าง ๆ ที่กำหนดขึ้นโดยคณะกรรมาธิการการเลือกตั้งถาวรที่มีอิสระจากการเมือง อายุขั้นต่ำของผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงคือ 18 ปี ส่วนผู้ที่จะสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาสามัญได้ต้องมีอายุอย่างต่ำ 21 ปีบริบูรณ์ สมาชิกรัฐสภา (เอ็มพี) จำนวน 635 คนจะถูกเลือกจากแคว้นเวลส์ แคว้นสก๊อตแลนด์ แคว้นไอร์แลนด์เหนือ และแคว้นอิงแลนด์ แต่ส่วนใหญ่แล้วได้รับเลือกตั้งจากแคว้นอิงแลนด์ สมาชิกรัฐสภาหรือเอ็มพีเหล่านี้ได้รับเลือกตั้งด้วยการเลือกตั้งทั่วไปภายหลังจากที่การการยุบสภาหรือได้รับเลือกตั้งซ่อมเมื่อที่นั่งเกิดว่างลง


ความสำคัญ แม้ว่าจะมีพรรคการเมืองเล็ก ๆ หลายพรรคแข่งขันการเลือกตั้ง แต่สภาสามัญนี้เป็น เป้าหมายของการแข่งขันระหว่างพรรคเสียงข้างมากที่เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลกับพรรคฝ่ายค้านที่ทำหน้าที่เป็นรัฐมนตรีเงา สภาสามัญทำหน้าที่ดำเนินการ (1) ธุรกิจการเงินการคลังแห่งชาติ (2) พิจารณาการออกกฎหมายซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเสนอของฝ่ายรัฐบาล (3) ตรวจสอบกิจกรรมของฝ่ายบริหารและฝ่ายจัดการ และ (4) วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอันเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงไว้ซึ่งประชาธิปไตย

Britain : House of Lords

อังกฤษ : สภาขุนนาง

สภาสูงแต่มีอำนาจน้อยในสองสภาของรัฐสภาอังกฤษ และเป็นสภานิติบัญญัติที่เก่าแก่ที่สุดของโลก สภาขุนนางสืบทอดมาจาก คูเรีย รีจิส หรือ คิงส์คอร์ท ในสมัยโบราณ ที่พวกขุนนางจะถูกพระมหากษัตริย์เรียกตัวให้มาให้ความช่วยเหลือ (มาเสียภาษี) เมื่อรายจ่ายของพระราชอาณาจักรมีจำนวนเกินกว่าทรัพยากรส่วนพระองค์จะรับไหว ในกาลต่อมาเมื่อมีการเรียกผู้แทนประจำซิตี้ ประจำทาวน์ และประจำเคาตีมาประชุม สภาขุนนางก็จึงได้เริ่มวิวัฒนาการขึ้นมา ด้วยเหตุนี้ลักษณะความเป็นผู้แทนของรัฐสภาจึงอิง 2 ฐาน คือ ฐานหนึ่งเป็นสภาแต่เพียงในนามเพราะสมาชิกมาจากการแต่งตั้ง แต่อีกฐานหนึ่งเป็นสภาที่มาจากการเลือกตั้ง บรรดาขุนนางจะได้รับการแต่งตั้งจากองค์ พระมหากษัตริย์โดยคำกราบบังคมทูลของนายกรัฐมนตรี บทบาททางด้านนิติบัญญัติที่สำคัญของสภาขุนนางซึ่งมีสมาชิก 900 คน มีดังนี้ (1) ทบทวนร่างกฎหมายที่ผ่านสภาสามัญมาแล้ว (2) ให้ความเห็นชอบในร่างพระราชบัญญัตินั้น หรือ (3) ส่งร่างพระราชบัญญัติกลับคืนไปให้สภาสามัญพิจารณาใหม่ สภาขุนนางอาจช่วยแบ่งเบาภาระของสภาสามัญได้ด้วยการริเริ่มการออกกฎหมายที่ไม่มีความสำคัญมาก ๆ นับตั้งแต่ที่ได้มีการออกพระราชบัญญัติพาร์เลียเมนทารีแอคท์ปี 1911 มาแล้วนั้น สภาขุนนางไม่สามารถขัดขวางพระราชบัญญัติทางการเงินได้ พระราชบัญญัติพาร์เลียเมนทารีแอคท์ปี 1949 ยอมให้ร่างพระราชบัญญัติมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายได้แม้ว่าจะถูกคัดค้านโดยสภาขุนนาง หากร่างพระราชบัญญัติฉบับนั้นผ่านโดยสมัยประชุมของสภาสามัญติดต่อกัน 2 สมัย และหากระยะเวลาหนึ่งปีผ่านไปนับแต่ผ่านวาระที่สองไปแล้ว สภาขุนนางแม้ว่าจะเป็นศาลสูงสุดในประเทศ แต่ก็ไม่มีอำนาจเหมือนศาลสูงสุดของสหรัฐ ฯ ในการพิจารณาทบทวนร่างกฎหมายต่าง ๆ ว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ทั้งนี้เพราะระบบของอังกฤษเป็นแบบรัฐสภามีอำนาจสูงสุดและเป็นระบบรวมอำนาจ อย่างไรก็ตาม เมื่อยามที่สภาขุนนางมาทำหน้าที่เป็นศาลสูงสุดนั้นก็จะมีสมาชิกสภาขุนนางที่เรียกว่าลอว์ลอร์ดมาทำหน้าที่นี้ โดยเปลี่ยนแปลงลักษณะขององค์กรจากที่เป็นสภาทางการเมืองและทางกฎหมายไปเป็นศาลยุติธรรม

ความสำคัญ สภาขุนนางเป็นสภาพี่เลี้ยงหาได้เป็นสภาคู่แข่งแย่งชิงอำนาจทางการเมืองของสภาสามัญอีกต่อไปไม่ สภาขุนนางซึ่งได้ถูกขจัดออกไปจากความรุนแรงเร่าร้อนของการเมืองที่มีการชิงดีชิงเด่นกันระหว่างพรรคการเมือง สามารถทำหน้าที่เป็นเวทีการประชุมที่มีประโยชน์สำหรับการถกแถลงที่สงบและการอภิปรายที่มีความรับผิดชอบ จากการที่สภาขุนนางมีอำนาจในการชะลอการใช้กฎหมายนี่เองจึงทำให้สามารถยับยั้งการกระทำที่อาจจะหุนหันพลันแล่นของสภาสามัญได้ และจากการที่ระบบนี้มีการแต่งตั้งบุคคลจากหลากหลายสาขาอาชีพเป็นขุนนางตลอดชีวิตได้นี้ ประเทศชาติก็จะได้รับประโยชน์จากการทำงานรับใช้ชาติของบุคคลเหล่านี้ อย่างไรก็ตามผลประโยชน์ของพวกขุนนางโดยสายโลหิตนับวันแต่จะหดหายไปเรื่อย ๆ ดังจะเห็นได้จากจำนวนสมาชิกของสภาขุนนางรายนี้ที่ไม่มาประชุมเป็นประจำปีมีประมาณถึง 100 คน จากผลข้อนี้เองผู้วิพากษ์วิจารณ์ได้เรียกร้องให้ขจัดสภา ขุนนางนี้เสียเพราะเป็นสภาที่ไม่สมสมัย กระนั้นก็ตามจากการที่อังกฤษยึดมั่นอยู่กับจารีตประเพณีและต้องการที่จะธำรงไว้ซึ่งสถาบันที่มีมาแต่ประวัติศาสตร์เอาไว้จึงช่วยยังยั้งไม่ให้มีการยกเลิกสภาขุนนางในขณะนี้

Britain : Labour Party

อังกฤษ : พรรคแรงงาน

หนึ่งในสองพรรคการเมืองสำคัญในการเมืองของอังกฤษ พรรคแรงงานซึ่งมีการรวมตัวที่มีความซับซ้อน ประกอบด้วยสหภาพแรงงาน กลุ่มนักสังคมนิยม กลุ่มอาชีพอื่น ๆ สมาคมสหกรณ์ พรรคการเมืองในเขตเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น ฯลฯ ได้รับการจัดตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1900 และตั้งชื่อว่าพรรคแรงงานนี้เมื่อปี ค.ศ. 1906 จะมีการพิจารณานโยบายกว้าง ๆ ในการประชุมประจำปีของพรรค ส่วนในช่วงที่ว่างเว้นจากการประชุมก็จะมีคณะกรรมาธิการบริหารระดับชาติดำเนินกิจกรรมของพรรคและอำนวยการอยู่ ณ สำนักงานใหญ่ของพรรค ส่วนศูนย์รวมอำนาจของพรรคอีกศูนย์หนึ่ง อยู่ที่พรรคแรงงานสายรัฐสภา (ได้แก่ สมาชิกสภาของพรรคแรงงานทั้งปวง) เมื่อพรรคแรงงานเป็นพรรคฝ่ายค้าน พรรคแรงงานสายรัฐสภาก็จะคัดเลือกคณะรัฐมนตรีเงา แต่เมื่ออยู่ในฐานะเป็นนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคแรงงานจะมีอำนาจและบารมีมากจนบางทีถึงกับสามารถโต้แย้งมติในที่ประชุมประจำปีของพรรคได้ด้วย ตามปกติแล้วจะมีการติดต่อประสานงานกันระหว่างพรรคแรงงานสายรัฐสภากับพรรคแรงงานโดยรวมโดยมีคณะรัฐมนตรีเป็นตัวประสาน

ความสำคัญ ถึงแม้ว่าสมาชิกพรรคแรงงานจะมีอยู่ในหมู่ผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในทุกสาขาวิชาชีพ แต่สมาชิกส่วนใหญ่และผู้ให้การสนันสนุนทางด้านการเงินจะมาจากสหภาพแรงงานเสียส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตามพวกที่ทำงานอย่างทุ่มเทให้กับพรรคแรงงานส่วนใหญ่ก็คือพวกนักอุคมการณ์ของพรรคที่อยู่ตามพรรคในเขตเลือกตั้งระดับท้องถิ่น และบุคคลเหล่านี้ก็มักจะไม่ค่อย “กินเส้น” กับพวกสายสหภาพแรงงานก็เคยมี พรรคแรงงานจะติดยึดในทางอุดมการณ์รุนแรงกว่าพรรคอนุรักษนิยม หรือพรรค การเมืองสำคัญ ๆ ของสหรัฐฯ นอกจากนั้นแล้วเมื่อเทียบกันกับพรรคอื่น ๆ แล้ว สมาชิกพรรคแรงงานจะมีความยึดมั่นในพรรคในฐานะมีเป็นสถาบันยิ่งกว่าจะยึดติดอยู่กับผู้นำพรรคเป็นรายบุคคล การที่พรรคแรงงานแพ้การเลือกตั้งทั่วไปอยู่บ่อย ๆ นั้นสามารถอธิบายได้ว่าเป็นเพราะมุ่งมั่นเอาจริงเอาจังกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมแบบตั้งโปรแกรมจะให้เกิดขึ้นอย่างนั้นอย่างนี้ให้ได้ในประเทศที่ยังยึดมั่นในจารีตประเพณีอย่างเหนียวแน่นอย่างอังกฤษ พรรคแรงงานได้สูญเสียสมาชิกไปเป็นจำนวนมากใน ช่วงระหว่างทศวรรษปี 1960 ถึงต้นทศวรรษปี 1980

Britain : Liberal Party

อังกฤษ : พรรคเสรีนิยม

พรรคการเมืองที่สำคัญพรรคหนึ่งในการเมืองของอังกฤษ พวกเสรีนิยมนี้สืบทอดมาจากพรรควิก ซึ่งเมื่อครั้งอดีตเคยเป็นหนึ่งในสองพรรคใหญ่ของอังกฤษ ที่พรรควิกเสื่อมความนิยมนั้นเป็นผลมาจาก (1) การก้าวสู่ความนิยมของพรรคแรงงาน (2) การปรับปรุงท่าทีและจุดยืนของพรรคอนุรักษนิยมไปในทิศทางที่มีลักษณะเสรีนิยม (3) เกิดการแตกแยกภายในพรรควิกเอง และ (4)ขาดฐานทางสังคม-เศรษฐกิจที่กว้างขวาง พรรคเสรีนิยมส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งประมาณ 100 คน ในการเลือกตั้งทั่วไปในช่วงเมื่อไม่นานมานี้ และพรรคเสรีนิยมก็ยังได้คะแนนเสียงมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นแต่เป็นคะแนนเสียงที่มีลักษณะกระจายตัว ซึ่งเมื่อระบบการเลือกตั้งเป็นแบบเขตเลือกตั้งหนึ่งมีสมาชิกได้เพียงคนเดียวแล้วขนาดของคะแนนนิยมของพรรคเสรีนิยมที่เพิ่มขึ้นก็ไม่ได้ช่วยให้ขนาดของพรรคในสายรัฐสภาเพิ่มมากขึ้นแต่อย่างใด การจัดองค์การของพรรคเสรีนิยมมีลักษณะคล้ายกับพรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรคของอังกฤษ คือ พรรคแรงงานและพรรคอนุรักษนิยม

ความสำคัญ ยุทธวิธีในปัจจุบันของพรรคเสรีนิยมก็คือให้ได้ที่นั่งเพิ่มในสภาสามัญมากพอที่จะทำหน้าที่ผู้ถือดุลอำนาจระหว่างสองพรรคใหญ่ให้ได้ อย่างก็ตามนโยบายเกี่ยวกับพรรคที่สามนี้มักจะมีอยู่ในโครงการของสองพรรคใหญ่เสมอ ทำให้พรรคเสรีนิยมต้องสูญเสียคะแนนเสียงของผู้ที่นิยมขวาของตนไปให้แก่พรรคอนุรักษนิยม และคะแนนสียงของผู้นิยมซ้ายของตนไปให้แก่พรรคแรงงาน อย่างไรก็ตามก็ยังมีพวกเสรีนิยมเป็นจำนวนมากยังคงทำงานอย่างมุมานะที่จะฟื้นฟูพรรคให้กลับมาผงาดเป็นพรรคเดินสายกลางให้ได้อีกครั้งหนึ่ง

Britain : Monarch

อังกฤษ : องค์กษัตริย์

ประมุขแห่งรัฐโดยสายโลหิตของสหราชอาณาจักรและจักรวรรดิอังกฤษ และทรงเป็นสัญลักษณ์แห่งความมีเอกภาพของเครือจักรภพ ในช่วงก่อนที่จะกำหนดให้รัฐสภามีอำนาจสูงสุดนั้นกษัตริย์ทรงปกครองด้วยพระราชอำนาจ ครั้นเมื่อเกิดการปฏิวัติครอเรียสเรฟโวลูชันปี ค.ศ. 1688 แล้วความมีอำนาจสูงสุดของรัฐสภาได้รับการรับรองและปัจจุบันสถานะของกษัตริย์ที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญก็อิงบทบัญญัติทางกฎหมายและจารีตประเพณี พระราชอำนาจที่ยังเหลืออยู่องค์กษัตริย์ทรงใช้โดยการกราบบังคมทูลของคณะรัฐมนตรี ได้แก่ (1) พระราชอำนาจในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี (2) พระราชอำนาจในการสั่งปลดรัฐบาล (3) พระราชอำนาจในการยุบสภา (4) พระราชอำนาจในการแต่งตั้งขุนนาง และ (5) พระราชอำนาจในการพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ พระราชทานเกียรติยศ และพระราชทานอภัยโทษ

ความสำคัญ ปัจจุบันสมเด็จพระนางเจ้าเอลิซาเบธที่ 2 ทรงเป็นพระราชินีของสหราชอาณาจักรและของจักรวรรดิอังกฤษที่ยังคงเหลืออยู่ และในส่วนพระองค์นั้นพระนางก็ยังทรงเป็นพระราชินีของรัฐ ต่าง ๆ ที่เคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษแต่มิได้เป็นสาธารณรัฐ ในฐานะที่ทรงเป็นพระประมุขแห่งเครือจักรภพ พระนางทรงได้รับการรับรองว่าเป็นสัญลักษณ์ของสมาคมเสรีแห่งกลุ่มประชาชาติที่มีความหลากหลายอยู่ทั่วโลก กษัตริย์อังกฤษซึ่งปัจจุบันคือพระราชินีนี้ทรงสร้างความสามัคคีกลมเกลียวและความต่อเนื่องให้แก่ชาติ ทรงสร้างความอลังการให้แก่กระบวนการการปกครอง และในฐานะที่ทรงเป็นพระประมุขแห่งศาสนจักรแห่งอังกฤษทรงได้รับการคาดหวังว่าจะทรงเป็นแบบอย่างทางด้าน ศีลธรรมแก่สังคมอังกฤษ แต่ในความเป็นจริงนั้นกษัตริย์ทรงครองราชสมบัติแต่นายกรัฐมนตรีปกครอง กระนั้นก็ดีจากการที่กษัตริย์ “ทรงมีสิทธิที่จะได้รับการกราบบังคมทูล ทรงมีสิทธิที่จะทรงกระตุ้น และทรงมีสิทธิที่จะทรงตักเตือน” พระองค์ในฐานะที่ทรงอุทิศพระองค์เพื่อกิจการของรัฐโดยที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองตลอดพระชนมชีพ ก็อาจจะมีอิทธิพลที่ยากจะประเมินหรือจะเพิกเฉยได้

Britain : Parliament

อังกฤษ : รัฐสภา

สภานิติบัญญัติ 2 สภา (สภาขุนนางและสภาสามัญ) ที่เป็นศูนย์รวมแห่งอำนาจทางการเมืองในอังกฤษ รัฐสภาอังกฤษในฐานะที่มีอำนาจสูงสุดในทางกฎหมาย ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือในการสร้างนโยบายของรัฐบาล คณะรัฐมนตรีในฐานะที่เป็นฝ่ายควบคุมพรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมากก็จะใช้อำนาจของรัฐสภาในการกำหนดนโยบายดังกล่าว

ความสำคัญ การมีชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปในแต่ละครั้งก็จะทำให้พรรคการเมืองที่ได้รับชัยชนะมีสิทธิที่จะใช้อำนาจของรัฐสภาในการตรากฎหมายเกี่ยวกับโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาล เมื่อได้เกิดการ ปกครองตามระบอบมีพรรคการเมืองขึ้นมาในอังกฤษแล้วนั้น ก็ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านลักษณะของรัฐสภาจากเดิมที่เป็นองค์กรสำหรับการอภิปรายอย่างแท้จริงไปเป็นองค์กรที่ให้ความ ชอบธรรมแก่การตกลงใจทั้งหลายในระบบ อย่างไรก็ตามระบบ “แม่แห่งรัฐสภา” ได้กลายเป็น แม่แบบให้แก่การปกครองระบอบประชาธิปไตยของโลก รัฐสภาของอังกฤษนี้อาจมีลักษณะตรงกันข้ามกับสภาคองเกรสของอเมริกัน ที่เป็นเพียงหนึ่งใน 3 ฝ่ายที่มีความเท่าเทียมกันของรัฐบาลเท่านั้นเอง

Britain : Party Government

อังกฤษ : การปกครองในระบบพรรคการเมือง

บทบาทอันสำคัญยิ่งของพรรคการเมืองที่ครองเสียงข้างมากในกระบวนการตกลงใจทางการเมือง ในระบบการปกครองของอังกฤษนั้นพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งได้ครองเสียงข้างมากมีสิทธิที่จะจัดตั้งรัฐบาล นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีในฐานะที่เป็นคณะผู้นำพรรคที่ครองเสียงข้างมากจะเป็นผู้ได้รับอำนาจของรัฐสภามาใช้ดำเนินโครงการต่าง ๆ ให้เป็นรูปธรรมขึ้นมา นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีจะคงมีอำนาจนี้อยู่ต่อไปทราบเท่าที่รัฐบาลยังได้รับความไว้วางใจจากรัฐสภา

ความสำคัญ การปกครองในระบอบพรรคการเมืองในอังกฤษอิงพื้นฐานของระบบพรรคการเมือง 2 พรรค คือ พรรคอนุรักษนิยม และพรรคแรงงาน ซึ่งประกาศนโยบายสาธารณะที่แตกต่างกัน จะเสนอตัวเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ลงคะแนนเสียง แม้ว่าในทางกฎหมายนั้นรัฐสภาจะมีอำนาจสูงสุดแต่บทบาทของรัฐสภาได้ลดน้อยลงไปเพราะจะต้องพึ่งพาคณะรัฐมนตรีในฐานะเป็นองค์กรที่จะทำหน้าที่เสนอแนะและดำเนินนโยบาย พรรคการเมืองของอังกฤษมีลักษณะตรงกันข้ามกับระบบพรรคการเมืองของอเมริกัน คือ เป็นระบบมีการบริหารจัดการแบบรวมอำนาจ มีความเป็นเอกภาพทางด้านอุดมการณ์อยู่ในระดับสูงและมีวินัยในพรรคดีมาก เพราะฉะนั้นเมื่อได้ผู้นำพรรคที่ดีแล้วก็จะช่วยเป็นหลักประกันได้ว่าจะทำให้เสียงข้างมากโดยอัตโนมัติในรัฐสภาเกิดประโยชน์ช่วยให้มาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลเสนอสามารถผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาไปได้

Britain : Party System

อังกฤษ : ระบบพรรคการเมือง

ในระบบพรรคการเมืองของอังกฤษ มีพรรคการเมืองแบบสองพรรคมานานหลายปีแล้ว ซึ่งประกอบด้วยพรรคแรงงานและพรรคอนุรักษนิยม แต่ก็ยังมีพรรคการเมืองอื่นๆ อีก เช่น พรรคเสรีนิยม พรรคสังคมประชาธิปไตย พรรคชาตินิยมเวลส์และสก๊อต และพรรคคอมมิวนิสต์ ทำการแข่งขันการเลือกตั้งด้วยเหมือนกัน แนวโน้มของการรวมกลุ่มใหญ่โดยยึดบรรทัดฐานสองพรรคนี้เริ่มแสดงให้เห็นในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 คือ ในช่วงที่พรรคแรงงานได้เข้ามาแทนที่พรรคเสรีนิยมเป็นพรรคใหญ่อีกพรรคหนึ่ง การแยกกลุ่มผู้ลงคะแนนเสียงออกจาก 2 พรรคใหญ่เป็นกลุ่มอิสระเริ่มขึ้นเมื่อทศวรรษปี 1960 ส่งผลให้คะแนนเสียงของผู้ที่เคยลงให้แก่ 2 พรรคใหญ่มีสัดส่วนลดลง

ความสำคัญ พรรคการเมืองของอังกฤษมีลักษณะที่ตรงกันข้ามกับระบบพรรคการเมืองของอเมริกัน กล่าวคือ ระบบพรรคการเมืองของอังกฤษมีลักษณะการรวมอำนาจอยู่ในระดับสูงมาก ทั้งในด้านภาวะผู้นำ การจัดองค์การ และการสนับสนุนด้านการเงินจากองค์การระดับชาติต่าง ๆ แต่ด้วยเหตุที่อังกฤษมีพื้นที่ขนาดเล็ก มีความกลมเกลียวทางด้านประชากร และมีการยึดหลักการพึ่งพิงองค์กรกลาง จึง ทำให้วินัยภายในพรรคการเมืองอยู่ในระดับสูงมาก จากการที่การลงคะแนนเสียงในรัฐสภาของพรรคการเมืองมีวินัยเคร่งครัดเช่นนี้ ทำให้ง่ายต่อการที่ผู้ลงคะแนนเสียงจะกำหนดความรับผิดชอบในเรื่องความล้มเหลวและความสำเร็จของโครงการกว่าในกรณีของระบบพรรคการเมืองของอเมริกัน

Britain : Prime Minister

อังกฤษ : นายกรัฐมนตรี (พีเอ็ม)

ประมุขของรัฐบาลในอังกฤษ ในระบอบการปกครองของอังกฤษนั้น ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็คือ ตำแหน่งหัวหน้าที่ปรึกษาของกษัตริย์นั่นเอง ด้วยเหตุที่อังกฤษมีระบบพรรคการเมืองแบบสองพรรค ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปโดยอัตโนมัติที่กษัตริย์จะทรงเลือกหัวหน้าพรรคการเมืองที่ครองเสียงข้างมากในสภาสามัญขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี จากนั้นนายกรัฐมนตรีก็จะจัดตั้งรัฐบาลโดยคัดเลือกสมาชิกของคณะรัฐบาล และนายกรัฐมนตรีก็ยังสามารถสับเปลี่ยน โยกย้าย หรือเรียกร้องให้สมาชิกของคณะรัฐมนตรีลาออกได้ด้วย นายกรัฐมนตรีในฐานะที่เป็นบุคคลที่ในภาษาอังกฤษเรียกว่า “เฟิสท์อะมังอีควลส์” (บุคคลแรกในหมู่บุคคลที่เท่าเทียมกัน) ในคณะรัฐมนตรีจะต้องรับผิดชอบต่อการร่างและประสานนโยบายตลอดจนการเสนอแนะและผ่านร่างพระราชบัญญัติต่าง ๆ นายกรัฐมนตรีในฐานะที่เป็นประมุขของรัฐบาล จะได้รับมอบหมายให้ทำการบริหารจัดการกิจการต่าง ๆ ของชาติ พร้อมไปกับทำหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนของชาติในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เมื่อปี ค.ศ. 1978 นางมาร์กาเรต แทตเชอร์ หัวหน้าพรรคอนุรักษนิยม เข้าดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ของอังกฤษ

ความสำคัญ อำนาจของนายกรัฐมนตรีมิได้มาจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือตัวบทกฎหมายเป็นการเฉพาะ แต่เป็นอำนาจที่ได้มาจากธรรมชาติของระบบขณะเกิดการวิวัฒนาการขึ้นมา แต่ก็เป็นอำนาจที่มีหลักประกันว่าจะมีการนำไปใช้อย่างมีความรับผิดชอบ นายกรัฐมนตรีของอังกฤษไม่เหมือนกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตรงที่ไม่มีการกำหนดในเรื่องวาระการดำรงตำแหน่ง คือ สามารถอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ตราบเท่าที่สามารถครองความไว้วางใจของพรรคในสภาสามัญและได้รับการสนับสนุนจากสาธารณชนที่แสดงออกมาในการเลือกตั้งทั่วไปที่จัดให้มีขึ้นอย่างน้อยในทุก 5 ปี

Britain : Role of Opposition

อังกฤษ : บทบาทของพรรคการเมืองฝ่ายค้าน

หน้าที่ของพรรคการเมืองใหญ่ที่ครองเสียงข้างน้อยในระบบการเมืองของอังกฤษ พรรคฝ่ายค้านของ “สมเด็จพระนางเจ้า” จะทำหน้าที่คอยซักไซ้ไล่เลียงและตรวจสอบโครงการต่าง ๆ ของฝ่ายรัฐบาลอยู่อย่างต่อเนื่อง จะต้องคอยตรวจสอบว่าพรรคการเมืองที่อยู่ในอำนาจนั้นมีคุณสมบัติพอที่จะปกครองประเทศได้หรือไม่ พอที่จะอธิบายนโยบายของตนให้เป็นที่พอใจได้หรือไม่ พอที่จะให้เหตุผลมาสนับสนุนการกระทำของตนได้หรือไม่ และพอที่จะรับผิดชอบต่อความต้องการของสาธารณชนได้หรือไม่ พรรคฝ่ายค้านนี้ความจริงคือตัวเลือกที่จะมาจัดตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้นมาปกครองประเทศนั่นเอง บทบาทของพรรคฝ่ายค้านได้รับการรับรองโดยรัฐจะให้เงินเดือนแก่หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านและผู้ช่วยห้วหน้าพรรคฝ่ายค้านนี้ด้วย

ความสำคัญ บทบาทของพรรคฝ่ายค้านมีความสำคัญต่อธรรมชาติของประชาธิปไตยในแบบรัฐสภาของอังกฤษ การที่พรรคฝ่ายค้านจะพลิกผันกลับมาเป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาลเสียเองได้หรือไม่นั้น ก็ต้องอาศัยวินัย ความจงรักภักดี และการสนับสนุนของภาวะผู้นำภายในพรรคฝ่ายรัฐสภาของแต่ละพรรคให้ได้ พรรคที่เป็นฝ่ายค้านจะพยายามวิพากษ์วิจารณ์ด้วยความรับผิดชอบทั้งนี้ก็ต้องคำนึงถึงวันที่สถานะของตนอาจจะพลิกผันจากสถานะฝ่ายค้านไปอยู่ในสถานะฝ่ายรัฐบาลในสภาสามัญไว้ด้วย ระบบของอังกฤษไม่เหมือนกับระบบของอเมริกัน ตรงที่ในระบบของอเมริกันพรรคฝ่ายค้านในสภาคองเกรสมักจะสามารถคว่ำข้อเสนอของฝ่ายบริหารและสามารถบีบให้เกิดการนีประนอมกันได้ แต่ในระบบของอังกฤษนั้นพรรคฝ่ายค้านปกติมีอำนาจแค่วิพากษ์วิจารณ์ ชะลอการตรากฎหมาย และเสนอทางเลือกให้แก่ผู้ลงคะแนนเสียงในการเตรียมตัวรณรงค์เลือกตั้งในอนาคตได้เท่านั้นเอง

Britain : Royal Commission

อังกฤษ : คณะราชกรรมาธิการ

คณะกรรมาธิการเฉพาะกิจที่ปลอดจากการเมืองซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลให้มาทำการศึกษาปัญหาสำคัญ ๆ เกี่ยวกับสาธารณประโยชน์ คณะราชกรรมาธิการนี้จะได้รับมอบหมายภารกิจที่มีความซับซ้อนและสำคัญมาก ๆ ซึ่งจะต้องใช้เวลาและความพยายามมากกว่าปกติ ซึ่งยากนักที่คณะกรรมาธิการรัฐสภาปกติคณะใดคณะหนึ่งจะอุทิศให้แก่ภารกิจเช่นนี้ได้ คณะราชกรรมาธิการนี้ประกอบด้วยสมาชิกรัฐสภา ผู้เชี่ยวชาญ และเอกชน โดยจะมีบุคคลผู้มีชื่อเสียงที่ สาธารณชนรู้จักเป็นอย่างดีทำหน้าที่เป็นประธานและมีข้าราชการพลเรือนอีกคนหนึ่งจากกระทรวงที่เกี่ยวข้องมาทำหน้าที่เป็นเลขาธิการ คณะกรรมาธิการซึ่งจะทำหน้าที่นานแค่ไหนก็ได้เท่าที่จะจำเป็นต่อภารกิจนี้ ก็จะทำหน้าที่ (1) เรียกบุคคลมาชี้แจง (2) แสวงหาพยาน (3) ปรึกษาหารือกับผู้เชี่ยวชาญ (4) รวบรวมข้อมูลและตรวจสอบหลักฐาน ในขั้นสุดท้ายนั้นก็จะมีการเขียนรายงานให้ข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิบัติของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ สมาชิกของคณะราชกรรมาธิการที่มีความเห็นเป็นอย่างอื่นก็มีอิสระที่จะแยกเขียนรายงานความเห็นของคนส่วนน้อยหนึ่งฉบับหรือมากกว่าก็ได้

ความสำคัญ คณะราชกรรมาธิการได้รับเกียรติเป็นอย่างมากเพราะมีผลงานที่มีความสมบูรณ์และปราศจากอคติ แม้ว่ารัฐบาลจะไม่มีข้อผูกพันว่าจะต้องปฏิบติตามรายงานที่เสนอโดยคณะราชกรรมาธิการนี้ก็จริง แต่นโยบายของรัฐบาลจะได้รับผลกระทบ เพราะผลการวินิจฉัยข้อเท็จจริงของคณะราช กรรมาธิการจะมีอิทธิพลต่อสมาชิกรัฐสภา และเป็นการแจ้งข่าวสารและเป็นการให้การศึกษาแก่ สาธารณชน เมื่อไม่กี่ปีมานี้คณะราชกรรมาธิการได้ทำหน้าที่เรื่องต่าง ๆ เช่น (1) ปัญหาสวัสดิภาพทางสังคม (2) สื่อมวลชน (3) การค้า และ (4) การกระจายความมั่งคั่ง

Britain : Social Democratic/ Liberal Alliance

อังกฤษ : พันธมิตรระหว่างพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยกับพรรคเสรีนิยม

ข้อตกลงที่ประเทศอังกฤษเมื่อปี ค.ศ. 1981 ระหว่างพรรคสังคมประชาธิปไตยที่จัดตั้งใหม่กับพรรคเสรีนิยม ลักษณะสำคัญของข้อตกลงเป็นกติกาสัญญาทางการเลือกตั้งว่า ทั้งสองพรรคจะไม่แข่งขันในการเลือกตั้งทั้งในระดับรัฐสภาและในระดับท้องถิ่น แต่ทั้งสองฝ่ายจะให้การสนับสนุนซึ่งกันและกันในการรณรงค์เลือกตั้ง ทั้งสองพรรคประกาศว่าจะทำการเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้งของอังกฤษให้เป็นแบบมีผู้แทนตามสัดส่วน คือเป็นแบบที่ทุกพรรคการเมืองมีที่นั่งในรัฐสภาตามสัดส่วนของคะแนนเสียงที่แต่ละพรรคได้จากผู้ลงคะแนนเสียง

ความสำคัญ การมีข้อตกลงระหว่างพรรคสังคมประชาธิปไตยกับพรรคเสรีนิยมนี้ เป็นการเพิ่มความน่าเชื่อถือว่าได้เกิดกลุ่มศูนย์กลางที่เข้มแข็งในการเมืองของอังกฤษเป็นครั้งแรกขึ้นมาแล้ว ข้อตกลงพันธมิตรนี้มีความหวังว่าจะสร้างพลังของตนขึ้นมาได้จากบรรดาสมาชิกที่ยังกวัดแกว่งใจไม่หนักแน่นของพรรคแรงงานและพรรคอนุรักษนิยม รวมทั้งจากพวกกลุ่มอิสระที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในอังกฤษ

Britain : Social Democratic Party(SDP)

อังกฤษ : พรรคสังคมประชาธิปไตย (เอสดีพี)

พรรคการเมืองของอังกฤษพรรคใหม่ที่เริ่มก่อตั้งในปี ค.ศ. 1981 โดยกลุ่มนักการเมืองระดับสูงที่แยกตัวออกมาจากพรรคแรงงาน สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการแตกแยกในพรรคแรงงานครั้งนี้ ก็เพราะมีการเปลี่ยนแปลงธรรมนูญใหม่ของพรรคแรงงานเพื่อให้พรรคสามารถควบคุมสมาชิกพรรคฝ่ายรัฐสภาได้เข้มข้นมากยิ่งขึ้น ส่วนเหตุผลสำคัญในการจัดตั้งพรรคใหม่ขึ้นมานี้ก็เพราะช่องว่างระหว่างนโยบายของพรรคแรงงานกับของพรรคอนุรักษนิยมยังมีมาก

ความสำคัญ พรรคสังคมประชาธิปไตยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างศูนย์กลางทางการเมืองที่ปฏิเสธนโยบายที่ค่อนข้างสุดโต่งของพรรคแรงงาน พรรคสังคมประชาธิปไตยให้การสนับสนุนนโยบายต่าง ๆ เช่น ให้อังกฤษเป็นสมาชิกขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) เป็นสมาชิกประชาคม ยุโรป (อีซี) และเป็นสมาชิกขององค์การระหว่างประเทศอื่น ๆ ต่อไป ในกิจการภายในนั้นพรรคสังคมประชาธิปไตยสนับสนุนให้คงเศรษฐกิจแบบประสมและกระจายอำนาจการปกครองต่อไป พรรคสังคมประชาธิปไตยได้รับความนิยมในหมู่ประชาชนอย่างรวดเร็ว

Caudillismo

เคาดิลลิสโม

หลักการปกครองทางการเมืองที่ยึดหลักตัวบุคลหรือหลัก “เจ้านาย” ในการเมือง แถบละตินอเมริกา เคาดิลลิสโมจะอิงหลักความจงรักภักดีของผู้ตามหรือลูกน้องที่มีต่อผู้นำหรือเจ้านาย เคาดิลลิสโมซึ่งมีรากฐานมาจากระบบศักดินาของสเปนและโปรตุเกส ได้นำมาปฏิบัติแทนสถาบัน ทางการของการปกครองตั้งแต่ระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับชาติ

ความสำคัญ การเมืองของละตินอเมริกามีแนวโน้มไปในทางความจงรักภักดีส่วนบุคคลยิ่งกว่าที่จะ มุ่งไปทางเนื้อหาสาระทางการเมือง ด้วยเหตุนี้ผู้เป็นเจ้านายจึงสามารถควบคุมกิจการทางการเมือง ต่าง ๆ จากทำเนียบประธานาธิบดีโดยตรงได้ อย่างเช่นกรณีของฮวน เปอรอง ในอาร์เจนตินา หรือ อาจจะควบคุมกิจการทางการเมืองต่าง ๆ โดยอยู่หลังฉากอย่างเช่นกรณีของฟุลเจนซิโอ บาติสตา ในคิวบาระหว่างปี ค.ศ. 1933-1940 เคาดิลลิสโมอาจจะคงหน้าฉากว่าเป็นระบอบการปกครองที่ยึดหลักสาธารณรัฐแต่หลังฉากมีลักษณะคล้าย ๆ กับระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือระบอบเผด็จการ

China (PCR) : Central Committee

จีน (พีซีอาร์, สาธารณรัฐประชาชนจีน) : คณะกรรมการกลาง

ภายใต้ธรรมนูญของพรรคคอมมิวนิสต์จีน (ซีซีพี) ปี ค.ศ. 1977 คณะกรรมการกลางเป็นเครื่องมือ ที่ซึ่งการตกลงใจของพรรคได้รับการตรวจสอบและถ่ายทอดต่อไปยังองค์กรอื่น ๆ ตามข้อบังคับของพรรคคอมมิวนิสต์จีน (ซีซีพี) นั้น คณะกรรมการกลางเป็น “องค์กรแนวหน้าสูงสุดของการจัดองค์การพรรค...เมื่อการประชุมใหญ่ของพรรคแห่งชาติ (แนชันแนล ปาร์ตี คองเกรส) มิได้อยู่ในสมัยประชุม” ในระหว่างช่วงว่างเว้นสมัยประชุมนี้ คณะกรรมการกลางได้รับมอบหมายให้ทำการอำนวยการในงาน ทุกอย่างของพรรค สมาชิกสมบูรณ์แบบจำนวนประมาณ 201 คนกับสมาชิกภาคีอีกจำนวน 132 คนของคณะกรรมการกลาง ได้รับการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการจากที่ประชุมใหญ่ของพรรคแห่งชาติ (เนชันแนล ปาร์ตี คองเกรส) คณะกรรมการกลางจะประชุมกันปีหนึ่ง ๆ 1-2 ครั้ง ๆ 2-3 สัปดาห์ สมัยประชุมของคณะกรรมการกลางเป็นความลับไม่เปิดเผยแก่บุคคลภายนอก เพียงแต่จะมีการออก แถลงการณ์สั้น ๆ ที่ระบุถึงข้อที่นำมาอภิปราย เรื่องทางการเมืองหรือโครงการที่ให้การยอมรับ

ความสำคัญ แม้ว่าจะยังขาดความรู้ที่กระจ่างชัดพอที่จะทำความเข้าใจได้อย่างทะลุปรุโปร่งถึง บทบาทของคณะกรรมการกลางนี้ได้ แต่ก็พอจะตั้งข้อสังเกตบางประการได้ว่า สมาชิกที่มีสิทธิลงคะแนนเสียงในสัดส่วนสำคัญของคณะกรรมการกลางนี้ประกอบด้วยสมาชิกของกรมการเมือง (โพลิตบุโร) ซึ่งกรมการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์จีนนี้ก็เป็นเช่นเดียวกับกรมการเมือง (โพลิตบุโร) ของพรรคคอมมิวนิสต์อดีตสหภาพโซเวียต คือ เป็นองค์กรทำหน้าที่ตกลงใจระดับสูงสุดในประเทศจีน คณะกรรมการกลางซึ่งมีวินัยสูงมากนี้สามารถให้ความชอบธรรมและถ่ายทอดคำสั่งจากกรมการเมืองได้ จากการที่การประชุมของคณะกรรมการกลางถือว่าเป็นความลับและจากการที่การเป็นสมาชิกของคณะกรรมการกลางนี้มีลักษณะเป็นผู้แทน จากความสำคัญ 2 ข้อนี้เองทำให้บรรดาผู้นำสามารถใช้เป็นเครื่องมืออย่างมีประสิทธิผลในการแก้ไขอุปสรรค ทำการทดสอบมติ ตลอดจนเป็นเกณฑ์วัดความมีประสิทธิผลของนโยบายและการบริหารงานได้เป็นอย่างดี ส่วนหน่วยงานย่อ ๆ อีกหลากหลาย หน่วยงานของคณะกรรมการกลางซึ่งมีสมาชิกสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาทำหน้าที่นี้ ก็ได้กลายเป็นหน่วยงานรวมศูนย์สำหรับคอยสอดส่องและคอยประเมินบรรดาผู้นำที่โดดเด่นขึ้นมาได้

China (PRC) : Chinese Communist Party (CCP)

จีน (พีอาร์ซี) : พรรคคอมมิวนิสต์จีน (ซีซีพี)

พรรคคอมมิวนิสต์ที่ใหญ่โตมากที่สุดในโลก มีสมาชิกกว่า 35 ล้านคน พรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งเป็นพรรคที่มีเอกภาพและมีวินัยอย่างสูงนี้ เป็นเครื่องมือที่บรรดาผู้นำพรรคสามารถใช้เพื่อควบคุมประชากรที่มีจำนวนมากที่สุดในโลกได้ ทั้งนี้เพราะประชาชนจีนส่วนใหญ่เป็นพวกที่อ่านหนังสือไม่ออก พรรคคอมมิวนิสต์จีนมีหน้าที่ทำการตกลงใจที่สำคัญ ๆ ทุกอย่าง และถูกจัดให้สามารถดำเนินการตามข้อตกลงเหล่านั้นได้ หลักการต่าง ๆ ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะผูกพันทั้งบุคคลที่เป็นสมาชิกพรรคและบุคคลที่มิได้เป็นสมาชิกพรรค พรรคคอมมิวนิสต์จีนทำหน้าที่บรรจุแต่งตั้งบุคคลในพรรคให้เข้าไปดำรงตำแหน่งในสำนักงานใหญ่ที่สำคัญ ๆ ทุกแห่งในประเทศ และพรรคคอมมิวนิสต์จะไม่ยอมให้มีฝ่ายค้านอย่างเด็ดขาด มาตรฐานสำหรับการรับบุคคลและการล้างสมองบุคคลก็มีความเคร่งครัดมาก ทว่ามาตรฐานสำหรับคัดเลือกสมาชิกใหม่ของพรรคจะผันแปรไปตามห้วงเวลาแต่ละช่วงเท่าที่เห็นว่ามีความจำเป็นเป็นแบบใด โดยสมาชิกอาจจะเป็นพวกผู้นำทางทหาร ผู้นำทางช่างเทคนิค ผู้นำปัญญาชน หรือผู้นำชาวนาชาวไร่ องค์กรหลักของหน่วยงานกลางของพรรคเริ่มด้วยการประชุมใหญ่พรรคแห่งชาติ (เนชันแนล ปาร์ตี คองเกรส) ซึ่งสมาชิกจำนวน 35,000 คนของการประชุมใหญ่พรรคแห่งชาตินี้จะทำหน้าที่เป็นเครื่องมือในการป่าวประกาศนโยบายที่ระดับสูงขึ้นไปกำหนดมาแล้ว คณะกรรมการซึ่งมีสมาชิกสมบูรณ์แบบจำนวน 201 คน และมีสมาชิกภาคีอีกจำนวน 132 คนนี้เป็นที่รวมของบรรดาผู้นำสำคัญทั้งปวงให้มาประชุมกันเพื่อถกแถลง ให้ความเห็นชอบ และดำเนินนโยบาย กรมการเมืองหรือโพลิตบุโรซึ่งมีสมาชิกจำนวนประมาณ 30 คนจะใช้อำนาจของคณะกรรมการกลางในระหว่างที่ว่างเว้นสมัยประชุม อำนาจสูงสุดของกรมการเมืองอยู่กับคณะกรรมาธิการประจำของกรมการเมืองซึ่งมีสมาชิกระหว่าง 5-10 คน ซึ่งเป็นผู้นำที่มีอิทธิพลมากที่สุดในพรรค

ความสำคัญ พรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นแหล่งที่มาของอำนาจทั้งปวงในสาธารณรัฐประชาชนจีน พรรคคอมมิวนิสต์จีนนี้เองที่ทำหน้าที่กำหนดนโยบายทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม โครงสร้างพรรคมีรูปทรงแบบพีระมิด โดยมีอำนาจที่เป็นทางการอยู่ที่ฐานของพีระมิด แต่ในความเป็นจริงนั้นพรรคคอมมิวนิสต์และประเทศจีนถูกควบคุมจากเบื้องบนสุดของพีระมิด คือ กรมการเมือง (โพลิตบุโร) และหน่วยงานสูงสุดของกรมการเมืองก็คือคณะกรรมาธิการประจำนั่นเอง ด้วยเหตุที่พรรคคอมมิวนิสต์และรัฐบาลจีนมีความเชื่อมโยงถึงกันและกันและรัฐถูกจัดโดยอิงหลักการของรัฐเดี่ยว ทุกขั้นตอนของวิถีชีวิตของจีนจึงอยู่ภายใต้การพิจารณาของเจ้าหน้าที่ในระดับสูงของพรรคเพียงไม่กี่คนเท่านั้น การที่มีการควบคุมอย่างเคร่งครัดเช่นนี้ก็ด้วยอ้างเหตุผลด้วยวลีว่าเป็นลัทธิ “ประชาธิปไตยแบบรวมศูนย์”

China (PRC) : Communes

จีน (พีอาร์ซี) : คอมมูน

หน่วยการปกครองระดับพื้นฐานของการจัดองค์กรทางสังคมของจีนที่ออกแบบไว้เพื่อ ก่อให้เกิดผลผลิตสูงสุดโดยวิธีจัดระเบียบงานและแบบแผนการดำเนินชีวิตเสียใหม่ คอมมูนได้รับการจัดตั้งขึ้นมาแทนหน่วยการปกครองแบบโบราณของจีนเพื่อวัตถุประสงค์ในการสร้างบูรณาการผสมผสานภารกิจทางด้านอุตสาหกรรม การเกษตร การพาณิชย์ วัฒนธรรม การทหาร และการตำรวจ ทรัพย์สินและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เป็นของภาคเอกชนและของภาคสหกรณ์จะถูกนำมารวมไว้ในคอมมูน ทั้งหมด ผู้ใช้แรงงานทุกคนนับตั้งแต่แม่บ้านเรื่อยไปจนถึงผู้ผลิตผลผลิตและผู้จัดการภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรมในระดับท้องถิ่นก็ให้มาดำเนินการโดยกระทำในลักษณะร่วมกันทำงานต่าง ๆ จะร่วมกันทำโดยคณะผู้ผลิตที่ตั้งชื่อแตกต่างกันไป โดยคณะผู้ทำงานนี้จะจัดตั้งตามแบบการจัดองค์การของฝ่ายทหาร (คือ เป็นระดับกองพล ระดับกองพัน ระบบกองร้อย ระดับหมวด เป็นต้น)

ความสำคัญ การสร้างสังคมจีนให้เข้าสู่ระบบคอมมูนที่มีบูรณาการอย่างสมบูรณ์นี้เริ่มขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1958 แต่ได้ก็มีการแก้ไขในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1961 ถึงปี ค.ศ. 1964 ทั้งนี้เพราะเกิดการ แปลกแยกและเกิดความคับข้องใจในหมู่กรรมกรเนื่องจากเป็นการจัดองค์การที่ใหญ่โตเกินไป และ เกิดการตกต่ำของระดับการผลิต คอมมูนที่อยู่ในเมืองมีผลผลิตอยู่ในระดับต่ำมากไม่สามารถบรรลุถึงระดับที่ได้รับการยอมรับในระดับคอมมูนชนบท ทางการจีนต้องการยกระดับการผลิตขึ้นสู่ระดับก่อน ที่จะมีการจัดตั้งระบบคอมมูน ก็จำต้องพิจารณาถึงเงื่อนไขและปัจจัยของท้องถิ่นเพื่อปรับแต่งระบบการจัดคอมมูนในจีนใหม่ จากข้อนี้ส่อแสดงให้เห็นว่าจีนให้การยอมรับว่าแม้ว่ารัฐจะมีอำนาจกำหนดนโยบายเศรษฐกิจรวมที่อิงทฤษฎีคอมมิวนิสต์ได้แต่รัฐก็ไม่มีความสามารถใช้อำนาจควบคุมและ จัดการสังคมจีนได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด อย่างไรก็ตามคอมมิวนิสต์ก็ยังคงเป็นหน่วยการบริหารและหน่วยการผลิตอยู่ในจีนต่อไปจนกระทั่งทุกวันนี้

China (PRC) : Cultural Revolution

จีน (พีอาร์ซี) : การปฎิวัติทางวัฒนธรรม

ชื่อของการปฏิวัติที่สานุศิษย์ของเหมาเจ๋อตงตั้งให้แก่การต่อสู้ของพวกเขาในช่วงทศวรรษปี 1960 ต่อลัทธิแก้และต่อการทรยศต่อแนวทางการปฎิวัติ ในทัศนะของพวกลัทธิเหมานั้นการปฎิวัติทางวัฒนธรรมเป็นกระบวนการของชนชั้นกรรมาชีพที่ต่อต้านการฟื้นฟูระบบทุนนิยมและวัตถุนิยมในรูปแบบของตะวันตกหรือของโซเวียต การต่อสู้ที่มีอยู่อย่างต่อเนื่องถือว่ามีความจำเป็นเพราะว่าการขัดขืนของฝ่ายนายทุนจะเพิ่มทวีมากยิ่งขึ้นเมื่อใกล้จะถึงจุดจบ

ความสำคัญ ในการปฎิวัติทางด้านวัฒนธรรมนั้น การต่อสู้แย่งชิงอำนาจที่แท้จริงมิใช่เป็นการต่อสู้ระหว่างลัทธิคอมมิวนิสต์กับลัทธินายทุน แต่เป็นการต่อสู้ระหว่างพวกปฏิกิริยาหัวเก่ากับพวกข้ารัฐการและพวกนักวิชาการรุ่นใหม่ การต่อสู้กันครั้งนี้เป็นการต่อสู้ระหว่างพวกที่มีจิตใจยึดมั่นในทางปฎิวัติกับพวกที่ยึดหลักการสร้างชาติ การต่อสู้ระหว่างพลังขัดแย้งทั้งสองฝ่ายนี้ได้สร้างความแตกแยกให้แก่สังคมจีน โดยที่ฝ่ายผู้นำเก่าไม่สามารถพึ่งพาอาศัยความจงรักภักดีของพรรค ของรัฐและของข้ารัฐการฝ่ายทหารได้ จึงได้หันเข้าหามวลชนที่เรียกว่าผู้พิทักษ์แดงเพื่อช่วยให้ได้กลับมายืนหยัดเป็นผู้นำได้เหมือนเดิม วัตถุประสงค์ขั้นสุดท้ายของลัทธิคอมมิวนิสต์ ซึ่งได้แก่ การเปลี่ยนแปลงธรรมชาติของมนุษย์เพื่อให้สามารถสร้าง “มนุษย์คอมมิวนิสต์ใหม่” ได้ถูกใช้เป็นแรงบันดาลใจสำหรับการปฎิวัติทางวัฒนธรรมนี้

China (PRC) : Maoism

จีน (พีอาร์ซี) : ลัทธิเหมาเจ๋อตง

หนึ่งในสองปรัชญาสำคัญที่ขัดแย้งกัน ซึ่งทำให้เกิดการแบ่งแยกบรรดาผู้นำของพรรคคอมมิวนิสต์ในสาธารณรัฐประชาชนจีนออกจากกัน ลัทธิเหมาเจ๋อตงเน้นว่าความบริสุทธิ์ทางด้านอุดมการณ์และการบรรลุถึงเป้าหมายของการปฏิวัติเป็นความเร่งด่วนที่ต้องมาก่อนความชำนาญทางเทคโนโลยีและความมั่งคั่งทางวัตถุ เพื่อให้พวกตนสามารถเข้าไปควบคุมเพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ข้างต้นได้อีกครั้งหนึ่ง พวกนิยมลัทธิเหมาเจ๋อตงจึงได้เรียกร้องให้เยาวชนที่ศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาและในระดับวิทยาลัยหันมายึดอุดมคตินิยมเพื่อปลดเปลื้องจิตวิญญาณของจีนจากพวกทุนนิยมและพวกลัทธิแก้ตามแบบของตะวันตกและแบบของสหภาพโซเวียต ซึ่งเป็นพวกที่จะทำลายการปฎิวัติที่ประธานเหมาเจ๋อตงให้คำนิยามไว้ก่อนที่จะเสียชีวิตเมื่อปี ค.ศ. 1976

ความสำคัญ ลัทธิเหมาเจ๋อตงเกรงว่าการควบคุมสังคมจีนจะหลุดไปจากมือของผู้นำปฏิวัติกลุ่มเก่าไปอยู่ในมือของพวกนักสร้างชาติรุ่นใหม่ ซึ่งพวกหลังนี้ได้แก่พวกข้ารัฐการชั้นสูงและพวกนักวิชาการทางอุตสาหกรรมและทางเกษตรกรรม พวกที่ต้องการรักษาความบริสุทธิ์ผุดผ่องของลัทธิคอมมิวนิสต์ไว้ได้พยายามดิ้นรนโดยการเทิดทูนประธานเหมาเจ๋อตงและแนวคิดของเขาที่รวมอยู่ในหนังสือเรื่อง “โคเทชันฟรอมแชร์แมนเหมาเจ๋อตง”มาเป็นหุ่นเชิด พวกยุวชนพิทักษ์แดงได้ทำการโจมตีฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประธานเหมาเจ๋อตง โดยการประณามด้วยถ้อยคำหยาบคาย การเผาทำลายอาคารสถานที่ การปล้นสะดม และการก่อความวุ่นวาย ซึ่งส่งผลให้มีการตอบโต้กันและกันขึ้น ทำให้ประเทศจีนตอนนั้นตกอยู่ในสภาพเกิดการจลาจลและสงครามกลางเมือง

China (PRC) : National Party Congress

จีน (พีอาร์ซี) : สภาพรรคแห่งชาติ

สถาบัน “ตรายาง” ที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของมวลสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีน อำนาจสูงสุดของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่เป็นทางการอยู่ที่สภาพรรคแห่งชาตินี่เอง สภาพรรคแห่งชาติของจีนนี้ก็เช่นเดียวกับสภาทุกสหภาพของ(อดีต)สหภาพโซเวียต คือ มีสมาชิกประกอบด้วยผู้แทนจำนวนระหว่าง 1200-1500 คนที่ได้รับเลือกสรรโดยอ้อมเป็นทอด ๆ ผ่านทางสภาเทศบาล สภาเมือง และสภามณฑล ผู้แทนเหล่านี้เมื่อได้รับการเลือกสรรมาแล้วก็จะทำหน้าที่อยู่ 5 ปี ภายใต้ธรรมนูญทุกฉบับซึ่งรวมถึงฉบับปี ค.ศ. 1977 คณะกรรมการกลางได้รับมอบอำนาจให้สามารถยกเลิกการประชุมของสภาพรรคแห่งชาตินี้ได้ภายใต้สภาพแวดล้อมพิเศษ นอกจากนี้แล้วคณะกรรมการกลางนี้ก็ยังมีอำนาจสั่งเลื่อนการประชุมของหน่วยงานแม่ของตนคือพรรคอมมิวนิสต์ได้อีกด้วย โดยนัยนี้คณะกรรมการ กลางนี้จึงสามารถสลัดตนเองจากความรับผิดชอบต่อสภาพรรคแห่งชาติไปให้แก่สมาชิกพรรคได้ สภาพรรคแห่งชาติ (1) จะคอยฟังบรรคาผู้นำพรรคอธิบายถึงนโยบายที่มีการกำหนดไว้ก่อนหน้าแล้ว (2) ทำหน้าที่ผ่านมติที่เตรียมการไว้ล่วงหน้าก่อนหน้าแล้ว และ (3) ทำการคัดเลือกสมาชิกของคณะกรรมาธิการกลางที่ถูกเลือกไว้ก่อนหน้าในระดับโพลิตบุโรนั้นแล้ว

ความสำคัญ ในการจัดองค์การของหน่วยงานสำคัญๆของพรรคคอมมิวนิสต์จีนนั้น ทางพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะยึดหลักแม่แบบของรัสเซีย (สมัยที่ยังเป็นสหภาพโซเวียต) ในทางทฤษฎีนั้นหน่วยงานทุกหน่วยมีการจัดสายงานบังคับบัญชาลดหลั่นโดยให้รับผิดชอบต่อสภาพรรคแห่งชาติที่ฐานของพีระมิด แต่ในทางปฏิบัตินั้นอำนาจสูงสุดจะอยู่ที่ข้างบนสุดของยอดพีระมิด คืออยู่ที่กรมการเมืองหรือโพลิตบุโร และที่คณะกรรมาธิการประจำของโพลิตบุโร และภายใต้หลักการของประชาธิปไตยแบบรวมศูนย์นั้น สถาบันอื่น ๆ ของพรรคทุกสถาบันจะทำหน้าที่ในการให้ความชอบธรรม ทำการถ่ายทอด ทำการสนอง และทำการโฆษณานโยบายและคำบงการที่สั่งการมาจากเบื้องบน

China (PRC) National People’s Congress (NPC)

จีน (พีอาร์ซี) : สภาประชาชนแห่งชาติ (เอ็นพีซี)

ฝ่ายนิติบัญญัติที่ทำหน้าที่ให้การรับรองนโยบายของสาธารณรัฐประชาชนจีน รัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐประชาชนแห่งชาติเป็น “องค์กรสูงสุดแห่งอำนาจรัฐในสาธารณรัฐประชาชน” และเป็น “อำนาจนิติบัญญัติเพียงหนึ่งเดียวในประเทศ” การเลือกตั้ง (สมาชิกของสภาประชาชนแห่งชาติ) จะกระทำโดยการลงคะแนนเสียงลับภายหลังจาก “ที่ได้ปรึกษาหารือโดยทางประชาธิปไตย” ผ่านทางสภาประชาชนหลายระดับนับตั้งแต่ระดับท้องถิ่นขึ้นไปจนถึงระดับชาติ ผู้ลงคะแนนเสียงจะได้รับบัญชีผู้สมัครรับเลือกตั้งเพียงบัญชีเดียวที่เตรียมการเป็นการลับโดยเจ้าหน้าที่ของพรรคในระดับท้องถิ่น ผู้ลงคะแนนเสียงพอจะมีโอกาสเลือกบ้างเมื่อตอนที่พรรคในระดับท้องถิ่น ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งจำนวนมากกว่าที่นั่งที่มีอยู่นั้น ในแต่ละปีจะมีผู้แทนประมาณ 3500 คน ที่ได้ รับเลือกให้มาอยู่ในตำแหน่งวาระละ 5 ปี โดยจะมาร่วมประชุมกันที่กรุงปักกิ่งเป็นเวลาหลายวันเพื่อให้ความเห็นชอบในนโยบายของผู้นำพรรค นอกจากนั้นแล้วสภาประชาชนแห่งชาตินี้ก็ยังจะทำการ คัดเลือกคณะกรรมาธิการสามัญของตนขึ้นมาคณะหนึ่ง ซึ่งเป็นองค์กรที่มีลักษณะเทียบได้กับสภา เปรสิเดียมแห่งสุพรีมโซเวียตให้มาทำหน้าที่ในช่วงว่างเว้นการประชุมของสภาประชาชนแห่งชาติ ประธานของคณะกรรมาธิการประจำนี้จะได้รับการเลือกสรรจากสภาประชาชนแห่งชาติให้ทำหน้าที่เป็นประมุขแห่งรัฐ

ความสำคัญ สภาประชาชนแห่งชาติเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างภาคทฤษฎีกับภาคปฏิบัติในระบบของจีน แม้ว่าสภาประชาชนแห่งชาติจะเป็น “องค์กรสูงสุดของอำนาจรัฐ” แต่การควบคุมที่อยู่หลังฉากโดยกลไกของพรรคจะมอบอำนาจให้สภาประชาชนแห่งชาตินี้มีบทบาทเป็นเพียงให้ความเห็นชอบในนโยบายเท่านั้นเอง นอกจากนั้นแล้วการเลือกประธานของสภาประชาชนแห่งชาติและคณะกรรมาธิการสามัญมีระเบียบปฏิบัติที่เป็นการให้ความเห็นชอบต่อการคัดเลือกของเจ้าหน้าที่ระดับสูงมากกว่าจะเป็นการเลือกตั้งในแบบของตะวันตก อย่างไรก็ตามสภาประชาชนแห่งชาตินี้อาจนำความรู้สึกความมีเอกภาพ ความรู้สึกว่าได้ติดต่อกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของประเทศ และความรู้สึกว่ามีความต่อเนื่องและมีวัตถุประสงค์มาสู่สังคมจีนที่มีความใหญ่โตและมีความหลากหลายได้

China (PRC) : Politburo

จีน (พีอาร์ซี) : กรมการเมือง

องค์กรที่ทำหน้าที่วินิจฉัยสั่งการสำคัญในพรรคคอมมิวนิสต์จีน (ซีซีพี) และในประเทศจีน กรมการเมืองประกอบด้วยสมาชิกประมาณ 30 คน มีหน้าที่ตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ แล้วส่งนโยบายต่อไปยังคณะกรรมการกลางพรรคที่พวกตนคัดเลือกมากับมือของตนเอง เพื่อให้ความเห็นชอบและถ่ายทอดนโยบายต่อไปยังกลุ่มฝ่ายปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น ๆ ในพรรคคอมมิวนิสต์หรือในรัฐบาล หรือทั้งในพรรคคอมมิวนิสต์และในรัฐบาล กรมการเมืองจะได้รับการจัดองค์การให้ทำหน้าที่คู่ขนานไปกับรัฐมนตรีทั้งหลายของรัฐบาล ด้วยเหตุนี้ทั้งพรรคคอมมิวนิสต์และรัฐบาลจะเชื่อมโยงถึงกัน แต่พรรคจะควบคุมรัฐบาลอีกทีหนึ่ง

ความสำคัญ เครือข่ายอำนาจในกรมการเมืองอยู่ที่คณะกรรมาธิการสามัญของกรมการเมืองนี้เอง ซึ่งคณะกรรมาธิการสามัญของกรมการเมืองนี้ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 5-9 คน เป็นกลุ่มผู้ปกครองระดับสูงสุดที่มีอำนาจเด็ดขาดในสาธารณรัฐประชาชนจีน แต่เนื่องจากเรายังขาดข้อมูลเกี่ยวกับรายละเอียดในการทำงานของคณะกรรมาธิการสามัญของกรมการเมือง หรือของคณะกรรมการกลาง จึงทำให้ไม่สามารถพยากรณ์เกี่ยวกับรูปแบบหรือทิศทางการเปลี่ยนแปลงภาวะผู้นำที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ ตามปกตินั้นคณะกรรมาธิการกลางจะทำการคัดเลือกคณะกรมการเมืองและคณะกรรมาธิการกลางสามัญของกรมการเมือง แต่ในทางปฏิบัตินั้นคณะกรรมาธิการสามัญนี้มีอำนาจสูงสุดยอดและจะทำการควบคุมองค์การกลางทั้งปวงของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

China (PRC) : Red Guard

จีน (พีอาร์ซี) : ผู้พิทักษ์แดง

กลุ่มยุวชนและนักศึกษาในวิทยาลัยและในโรงเรียนมัธยมที่ขาดการจัดการและขาดระเบียบวินัยที่พวกนิยมลัทธิเหมาเจ๋อตงระดมเข้ามาไว่ในภาครัฐบาลและในพรรคคอมมิวนิสต์จีนในช่วงกลางทศวรรษปี 1960 เพื่อให้ทำหน้าที่ค้นหาและทำลายค่านิยมและสถาบันของชนชั้นกระฎุมพีในสังคมจีน ผู้พิทักษ์แดงทำหน้าที่เป็นเครื่องมือของ “การปฏิวัติทางวัฒนธรรมของชนชั้นกรรมาชีพที่ยิ่งใหญ่” ของเหมาเจ๋อตง ผู้พิทักษ์แดงจะใช้กำลังเข้าทำร้ายบุคคลและสร้างความอับอายให้แก่บรรดาผู้นำ นอกเหนือไปจากเข้าทำลายศิลปะจีนโบราณและทำการประณาม “มาตรฐานการครองชีพที่สูงและการดำเนินชีวิตตามแฟชั่นของฮ่องกงและพฤติกรรมของพวกข้ารัฐการ”

ความสำคัญ ผู้พิทักษ์แดงทำหน้าที่ 2 อย่างไปพร้อม ๆ กัน คือ หน้าที่อย่างแรกคือถูกใช้ให้ทำการบีบบังคับพวกปัญญาชน พวกนักเศรษฐศาสตร์ พวกวิศวกร และพวกนักการทหารที่สนใจอยู่กับการสร้างชาติให้หันมาให้ความสนใจในการปฏิวัติให้มากยิ่งขึ้น ส่วนหน้าที่อย่างที่ 2 นั้นก็คือ ต้องการให้ ผู้พิทักษ์แดงนี้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในจีนโดยการนำบรรดผู้นำเยาวชนที่มีประสบการณ์ทางการปฏิวัติเข้ามามีอำนาจในอนาคตแทนผู้นำการปฏิวัติรุ่นเก่าที่ชราภาพตั้งแต่สมัย “การเดินทางที่ยาวไกล” (ลองมาร์ช) การระดมพวกพิทักษ์แดงฝ่ายต่าง ๆ ตลอดจนฝ่ายที่ให้การสนับสนุนและฝ่ายโจมตีเข้ามาไว่ในกองทัพปลดปล่อยประชาชนนี้ ทำให้กลไกในพรรคคอมมิวนิสต์จีนและสถาบันต่าง ๆ ในภาครัฐบาลหยุดชะงักลงในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1966-1968

China (PRC) : State Council

จีน (พีอาร์ซี) : สภาแห่งรัฐ

องค์กรที่ทำหน้าที่วินิจฉัยสั่งการสูงสุดของฝ่ายบริหารของรัฐ ซึ่งก็เทียบได้กับสภารัฐมนตรีในอดีตสหภาพโซเวียตนั่นเอง ประธานของสภาแห่งรัฐ ก็คือ นายกรัฐมนตรีของสาธารณรัฐประชาชนจีน สมาชิกของสภาแห่งรัฐประกอบด้วย รองนายกรัฐมนตรีจำนวนหลายคน รัฐมนตรีจำนวน 30 คน หรืออาจมากกว่า บรรดาหัวหน้าคณะกรรมาธิการรัฐและหน่วยงานต่าง ๆ และเลขาธิการอีก 1 คน ทุกตำแหน่งจะได้รับการเสนอชื่อจากนายกรัฐมนตรีและได้รับการรับรองจากสภาประชาชนแห่งชาติ สภาแห่งรัฐจะประชุมกันทุกเดือนและเป็นศูนย์กลางของกิจกรรมของฝ่ายบริหารและฝ่ายจัดการของรัฐ นอกจากนั้นแล้วสภาแห่งรัฐนี้ก็ยังมีคณะกรรมาธิการประจำหรือ “คณะรัฐมนตรีวงใน” อีกคณะหนึ่งที่จะมาประชุมกันบ่อยกว่าและมีลักษณะเทียบได้กับคณะผู้บริหารสูงสุดของสภารัฐมนตรีในระบบของโซเวียต สมาชิกของ “คณะรัฐมนตรีวงใน” นี้ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และเลขาธิการของสภาแห่งรัฐนี้


ความสำคัญ สภาแห่งรัฐจะทำหน้าที่บริหารจัดการกิจการต่าง ๆ ของชาติให้สอดคล้องกับนโยบายที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้วางเอาไว้แล้วนั้น อำนาจในการวินิจฉัยสั่งการเด็ดขาดในสภาแห่งรัฐมีได้เนื่องจากสมาชิกของคณะกรรมาธิการสามัญของสภาแห่งรัฐและของสมาชิกของกรมการเมืองเป็นบุคคลกลุ่มเดียวกันในจำนวนที่ค่อนข้างสูงมากนั่นเอง เมื่อว่าด้วยอำนาจ สมาชิกและหน้าที่แล้ว สภาแห่งรัฐของจีนนี้เทียบได้กับสภารัฐมนตรีในอดีตสหภาพโซเวียตนั่นเอง

Coalition Government

รัฐบาลผสม

รัฐบาลที่มีพรรคการเมืองเล็ก ๆ หลายพรรคมารวมตัวกันจัดตั้งคณะรัฐมนตรีเมื่อไม่มีพรรคการเมืองพรรคใดสามารถครองเสียงข้างมากในสภานิติบัญญัติได้โดยลำพัง หัวหน้าพรรคการเมืองที่มีเสียงมากที่สุดจะพยายามทำความตกลงกับพรรคเล็กพรรคน้อยต่าง ๆ เพื่อให้มาผนึกกำลังกันเป็นเสียงข้างมากในสภานิติบัญญัติ ในการตกลงกันนั้นก็อาจจะต้องมีการประนีประนอมด้วยการให้สัญญาว่าจะดำเนินนโยบายหรือโครงการ แก้ไขนโยบายหรือโครงการ หรือล้มเลิกนโยบายหรือโครงการอย่างใดอย่างหนึ่ง ตลอดจนตกลงกันในเรื่องของคณะรัฐมนตรีหรือตำแหน่งอื่น ๆ สำหรับ ทุกพรรคที่เข้ามารวมกันเป็นรัฐบาลผสม รัฐบาลผสมนี้จะมีการจัดตั้งขึ้นมาเมื่อ (1) ชาติขาดสมานฉันท์ทางสังคม (2) พรรคการเมืองต่างยึดมั่นในอุดมการณ์อย่างเข้มข้น (3) กลุ่มตัวแทนของชนกลุ่มน้อยที่มีอยู่หลากหลายนั้นมีความรู้สึกว่าผลประโยชน์ของพวกตนจะไว้วางใจมอบไว้กับพรรคใหญ่ที่คนไม่สามารถควบคุมได้นั้นคงจะไม่ได้ และ (4) ระบบเลือกตั้งอิงรูปแบบการมีผู้แทนตามสัดส่วน

ความสำคัญ รัฐบาลผสมจะขาดเสถียรภาพยิ่งกว่ารัฐบาลที่ถูกควบคุมโดยพรรคการเมืองที่ครองเสียงข้างมากเพียงพรรคเดียว รัฐบาลผสมจะต้องอาศัยการประนีประนอมในหลักการของแต่ละพรรคและแต่ละพรรคที่เข้าร่วมด้วยนั้นก็จะต้องตกลงใจว่าฝ่ายตนจะสามารถประนีประนอมโดยที่จะไม่เป็นการละเมิดหลักการพื้นฐานของพรรคตนได้มากน้อยขนาดไหนด้วย รัฐบาลหลายพรรคการเมืองนี้จะทำให้เรื่องที่รับปากไว้กับผู้ลงคะแนนเสียงว่าจะทำเรื่องนั้นเรื่องนี้เป็นไปด้วยความยากลำบาก ส่วนในระบบสองพรรคการเมืองนั้นก็อาจจะมีการจัดตั้งรัฐบาลผสมหรือรัฐบาลแห่งความสามัคคีแห่งชาติขึ้นมาในช่วงสงครามหรือในช่วงวิกฤติแห่งชาติอันเป็นช่วงที่การแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่ายในระบบพรรคถูกระงับไว้เป็นการชั่วคราว ในรัฐบาลผสมซึ่งมีลักษณะเดียวกับการเป็นพันธมิตรกันนั้น ฝ่ายที่ไม่อยากเข้าร่วมมากที่สุดจะเป็นผู้ควบคุมระดับของความร่วมมือ แต่ก็มีบางครั้งเหมือนกันที่พรรคเสียงข้างมากอยู่แล้วอาจรวมตัวกับพรรคเล็ก ๆ อีก 1 พรรคหรือหลายพรรคเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งในรัฐสภาของฝ่ายตน

Constituency

เขตเลือกตั้ง

ตำบลหรือหน่วยทางภูมิศาสตร์สำหรับการลงคะแนนเสียงเพื่อเลือกตั้งผู้แทนเข้าไปในสภานิติบัญญัติ หรือเลือกคนให้ไปทำหน้าที่เป็นผู้แทน บุคคลที่ลงคะแนนเสียงในภาษาอังกฤษเรียกว่า คอนสติททิวเอนท์ ภายใต้ระบบเขตเดียวเบอร์เดียวนั้น เขตเลือกตั้งเขตหนึ่งจะมีผู้แทนในสภานิติบัญญัติได้เพียงคนเดียวเท่านั้น แต่ภายใต้ระบบการมีผู้แทนตามสัดส่วนนั้นจะมีผู้แทนหลายคนได้รับเลือกตั้งจากแต่ละเขตเลือกตั้ง

ความสำคัญ เขตเลือกตั้งเป็นฐานของการปกครองแบบการมีผู้แทน แต่เนื่องจากสังคมสมัยใหม่มีลักษณะเคลื่อนไหวมีประชาชนย้ายเข้าย้ายออกอยู่เสมอ จึงเกิดปัญหาอย่างต่อเนื่องอย่างหนึ่ง สำหรับการปกครองตามหลักประชาธิปไตย คือ ทำอย่างไรถึงจะกำหนดเขตเลือกตั้งใหม่หรือทำอย่างไรถึงจะคงเขตการเลือกตั้งไว้เพื่อให้พื้นที่มีประชากรเท่าเทียมกัน

Constitution

รัฐธรรมนูญ

กฎหมายหลักหรือกฎหมายพื้นฐานของรัฐ ที่กำหนดถึงองค์กรพื้นฐานต่าง ๆ ของรัฐบาลและการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรเหล่านั้น ตลอดจนถึงการกระจาย และการใช้อำนาจและสัมพันธภาพระหว่างปัจเจกบุคคลกับรัฐ ไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใดเป็นแบบมีลายลักษณ์อักษรล้วน ๆ หรือแบบไม่มีลายลักษณ์อักษรล้วน ๆ ในสหรัฐอเมริกานั้นเอกสารที่เป็นลายลักษณ์อักษรจะถูกขยายความโดยบทบัญญัติของกฎหมาย การตีความของศาลและจารีตประเพณี ส่วนในประเทศที่มีรัฐ ธรรมนูญประเภทไม่มีลายลักษณ์อักษรกำหนดไว้เป็นการเฉพาะอย่างในกรณีของประเทศอังกฤษนั้น พระราชบัญญัติในอดีตของรัฐ หลักกฎหมายพื้นฐานต่าง ๆ การตีความของศาลและจารีตประเพณี จะทำหน้าที่ทำนองเดียวกับกรณีที่รัฐธรรมนูญเป็นแบบลายลักษณ์อักษร แต่ในทั้งสองกรณีนั้น หน้าที่ของรัฐธรรมนูญก็คือเป็นตัวกำหนดปทัสถานสำหรับให้ระบบสามารถดำเนินการไปได้

ความสำคัญ รัฐธรรมนูญอาจมีความซับซ้อนและมีสาระเป็นแบบที่มีความเคร่งครัดมาก ๆ อย่างในกรณีของรัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐไวมาร์ของเยอรมัน หรืออาจจะเป็นแบบมีความยืดหยุ่นมาก ๆ อย่างเช่นในกรณีของรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ ในกรณีที่เป็นรัฐธรรมนูญมีความเคร่งครัดมาก ๆ นั้น รัฐธรรมนูญจะระบุรายละเอียดไว้มากซึ่งก็เป็นการบ่งบอกถึงอาการของการมีสมานฉันท์เกี่ยวกับ วัตถุประสงค์และวิธีการของรัฐบาลอยู่ในระดับต่ำมาก รัฐธรรมนูญที่มีลักษณะเคร่งครัดมากนั้นจะทำให้ยากที่จะเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับเงื่อนไขทางสังคม เศรษฐกิจและการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปแล้วนั้น มีแนวโน้มว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญที่มีอายุการใช้งานสั้น ส่วนในสังคมที่มีสมานฉันท์นั้น รัฐธรรมนูญจะระบุไว้เฉพาะหลักการขั้นพื้นฐานและสามารถปรับแต่งให้เข้ากับเงื่อนไขการเปลี่ยนแปลงโดยวิธีการทางกฎหมายและการตีความของศาลยิ่งกว่าจะเป็นการกระทำโดยวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการ ในรัฐที่มีการปกครองตามระบอบคอมมิวนิสต์และรัฐที่มีการปกครองตามระบอบเผด็จการ รัฐธรรมนูญจะถูกใช้โดยระบอบการปกครองนั้น ๆ ให้เป็นเครื่องมือหาความชอบธรรมและคงการปกครองของตนไว้ยิ่งกว่าที่จะใช้เพื่อจำกัดอำนาจของฝ่ายรัฐบาล

Constitutional Dictatorship

ระบอบเผด็จการทางรัฐธรรมนูญ

ระบอบการปกครองที่ฝ่ายบริหารได้รับมอบอำนาจให้ทำการปกครองโดยกฤษฎีกาในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่งเป็นการเฉพาะ ขอบข่ายของอำนาจของผู้เผด็จการจะมีการกำหนดไว้ในเครื่องมือที่ใช้จัดตั้งระบอบเผด็จการนั้น ระบอบเผด็จการทางรัฐธรรมนูญปกติจะเป็นผลมาจากวิกฤติการณ์ของชาติและจะถูกอ้างว่าจำเป็นต้องนำมาใช้เพื่อปกป้องระบอบการปกครองโดยรัฐธรรมนูญแบบประชาธิปไตยที่ถูกคุกคามโดยภาวะฉุกเฉิน


ความสำคัญ ระบอบเผด็จการทางรัฐธรรมนูญมีเอกลักษณ์เฉพาะคือมีการโอนอำนาจของฝ่าย นิติบัญญัติไปให้แก่ฝ่ายบริหาร มีการลิดรอนสิทธิทางการเมืองและทางเศรษฐกิจและมีการประกาศใช้กฎอัยการศึกและมีการลิดรอนเสรีภาพของพลเมือง การระงับการทำงานตามปกติของการปกครองแบบมีผู้แทนเอาไว้เป็นการชั่วคราวในประเทศที่มีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยนั้น มีเหตุจูงใจมาจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น เกิดสงคราม เกิดการกบฏ เกิดภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจ เป็นต้น ตัวอย่างเช่น พลเอกชาร์ลส์ เดอ โกลล์ ได้รับมอบอำนาจให้ปกครองประเทศด้วยกฤษฎีกาเป็นการชั่วคราวเมื่อการปกครองของฝรั่งเศสตามปกตินั้นไม่สามารถแก้ไขวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นจากสงครามเรียกร้องเอกราชของแอลจีเรีย

Dictatorship

ระบอบเผด็จการ

ระบอบการปกครองตามอำเภอใจของบุคคลหรือคณะบุคคลที่ไม่ต้องรับผิดชอบโดยทางรัฐธรรมนูญต่อประชาชนหรือต่อผู้แทนที่ผ่านการเลือกตั้งของตน การเปลี่ยนแปลงในรัฐบาลสามารถเกิดขึ้นได้โดย (1) การเสียชีวิต (2) การปฏิวัติ (3) การรัฐประหาร (4) การสงคราม หรือ (5) การยอมสละอำนาจเอง ลักษณะของระบอบเผด็จการที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบันมีดังนี้ (1) มีการใช้ศัพท์และสถาบันประชาธิปไตยมาใช้บังหน้า (2) มีการอ้างอุดมการณ์ (3) มีการขจัดฝ่ายค้าน (4) มีการควบคุมฝ่ายทหาร (5) มีนโยบายต่างประเทศในทางรุกราน (6) มีผู้นำประเภทบุญญาบารมีที่อ้างตัวว่าเป็นรัฐเสียเอง (7) เห็นปัจเจกบุคคลมีความสำคัญน้อยกว่ารัฐ (8) มีการควบคุมสื่อสารมวลชน และ (9) มีพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวที่ให้การสนับสนุนผู้นำ ทำการควบคุมการบริหารงานของรัฐ และถ่ายทอดนโยบายของรัฐไปสู่พลเมือง

ความสำคัญ ระบอบเผด็จการเป็นผลมาจากปัจจัยทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมต่าง ๆ ปัจจัยเหล่านี้ ได้แก่ ความเก็บกดของคนที่มีต่อสถาบันที่มีอยู่นั้น การเรียกร้องให้ใช้แผนเด็ดขาดเพื่อแก้ไขสถานการณ์ และการยึดอำนาจโดยวิธีทางรัฐธรรมนูญและวิธีนอกรัฐธรรมนูญ ระบอบเผด็จการอาจมีลักษณะเป็นแบบพลเรือนที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพ เช่น กรณีของประเทศเยอรมนีในสมัยนาซี หรืออาจจะเป็นแบบทหาร อย่างเช่นในกรณีของประเทศญี่ปุ่นในช่วงก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือที่เกิดขึ้นตามรัฐต่าง ๆ ในทวีปแอฟริกา ระบอบรวมอำนาจเบ็ดเสร็จซึ่งเป็นระบอบเผด็จการเด็ดขาดจะมีการควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างของปัจเจกบุคคลและชีวิตสาธารณะ อย่างเช่นในกรณีของเยอรมนีของ ฮิตเลอร์ ปัญหาสุดท้ายที่ระบอบเผด็จการทุกระบบจะต้องประสบก็คือการสืบทอดอำนาจ ทั้งนี้เพราะระบบนี้โดยธรรมชาติจะไม่มีการถ่ายโอนอำนาจโดยสันติได้

Federal Government

การปกครองแบบสหพันธรัฐ

ระบบการปกครองที่มีการแบ่งอำนาจทางรัฐธรรมนูญระหว่างรัฐบาลกลางกับหน่วยย่อยของเขตเลือกตั้งของชาติ (จังหวัด มณฑล ภูมิภาค เป็นต้น) ทั้งรัฐบาลกลางและหน่วยย่อยต่างใช้อำนาจโดยตรงต่อประชาชน รัฐบาลแต่ละฝ่ายไม่ได้รับมอบอำนาจจากกันและกัน แต่ได้รับอำนาจจากรัฐธรรมนูญที่มีอำนาจเหนือรัฐบาลทั้งสองนั้น เมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกลางกับรัฐบาลท้องถิ่นและแต่ละรัฐบาลได้ปฏิบัติงานตามควรภายในขอบเขตอำนาจของฝ่ายตนแล้ว จะมีการตัดสินข้อพิพาทไปในทางที่เป็นคุณกับฝ่ายรัฐบาลกลางในฐานะที่เป็นศูนย์รวมขั้นสุดท้ายของอำนาจอธิปไตย หากมีการตัดสินข้อพิพาทในทางที่เป็นคุณต่อฝ่ายรัฐบาลท้องถิ่นก็จะเป็นการเปลี่ยนแปลงระบบไปเป็นสมาพันธรัฐไป รัฐที่มีการปกครองแบบสหพันธรัฐ ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา เม็กซิโก สวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ฯลฯ

ความสำคัญ การปกครองแบบสหพันธรัฐนี้มีลักษณะอยู่กึ่งกลางระหว่างการปกครองแบบรวมอำนาจไว้ที่รัฐบาลซึ่งมีเพียงหนึ่งเดียว กับการปกครองแบบกระจายอำนาจในรูปสมาพันธรัฐของรัฐอธิปไตย ในที่ที่มีการยอมรับการปกครองแบบสหพันธรัฐนั้น ตามปกติจะได้รับการออกแบบไว้เพื่อให้สามารถ ใช้ได้กับประชาชน วัฒนธรรม ภาษาและประเพณีที่มีความหลากหลายในรัฐเดี่ยวที่มีขนาดพื้นที่ใหญ่โตมาก ๆ ระบอบการปกครองแบบสหพันธรัฐนี้เป็นหนึ่งในระบอบการปกครองที่มีความซับซ้อนมากเท่าที่เคยมีการสร้างกันขึ้นมา เพราะเป็นระบอบที่มีจุดประสงค์สองประการในขณะเดียวกัน คือ เพื่อสร้างเอกภาพแห่งชาติในด้านวัตถุประสงค์ร่วมกัน แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องการดำรงไว้ซึ่งความ แตกต่างในระดับท้องถิ่นในสังคมเดียวกันนั้นไว้ด้วย ความสำเร็จของระบอบการปกครองแบบสหพันธรัฐ จะเป็นไปได้ก็จะต้องให้ความสมานฉันท์ทางค่านิยมที่จะยึดแบบสหพันธรัฐเข้าด้วยกันนั้นมีความ เข้มแข็งกว่าความแตกต่างของค่านิยมในระดับท้องถิ่นที่มีแต่จะทำให้ระบบแตกแยกกัน กระนั้นก็ดีพวกที่เน้นค่านิยมในระดับท้องถิ่นก็จะต้องมีความมั่นใจและแสดงออกในทางปฏิบัติด้วยว่ารัฐบาลกลางจะให้ความเคารพพวกตนด้วย จากความจำเป็นที่จะต้องสร้างภาวะสมดุลระหว่างความมี เอกภาพกับความคงความหลากหลายเอาไว้นี้เองทำให้ระบอบสหพันธรัฐยากที่จะทำงานได้อย่างมี ประสิทธิผล จากผลในข้อนี้เองทำให้ระบอบการปกครองแบบสหพันธรัฐไม่ได้รับความนิยมอย่าง กว้างขวางของรัฐบาลประเภทที่เป็นรัฐเดี่ยว

Thursday, October 22, 2009

France : Cabinet

ฝรั่งเศส : คณะรัฐมนตรี

บรรดารัฐมนตรีที่รัฐธรรมนูญมอบหมายให้มีหน้าที่ (1) กำหนดและชี้นำนโยบายแห่งชาติ (2) บังคับใช้กฎหมาย (3) ดำเนินการปกครอง และ (4) รับผิดชอบในการป้องกันประเทศ ในสาธารณรัฐที่ 5 ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐจะเป็นผู้เลือกสรรนายกรัฐมนตรี ซึ่งต่อไปนายกรัฐมนตรีนี้ก็จะเป็นผู้เสนอแนะบุคคลต่าง ๆ ที่จะมาเป็นรัฐมนตรีซึ่งจะได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดีต่อไป รัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นมานี้ในทางเทคนิคนั้นก็จะต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภา แต่ภายใต้มาตรา 49 และมาตรา 50 ของรัฐธรรมนูญ อำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติที่จะทำการควบคุมกิจการของรัฐบาลโดยใช้การ ลงคะแนนเสียงให้ความไว้วางใจและไม่ให้ความไว้วางใจนั้นถูกจำกัดไว้มาก

ความสำคัญ คณะรัฐมนตรีในระบบสาธารณรัฐที่ 5 จะทำงานโดยสอดประสานไปกับทำเนียบประธานาธิบดีที่มีอำนาจและมีอิสระตามข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุนี้ประชาธิปไตยแบบ รัฐสภาของฝรั่งเศสจึงมีลักษณะของการมีสัมพันธภาพในแบบผู้ใหญ่กับผู้น้อยระหว่างประธานาธิบดีกับนายกรัฐมนตรี ระบบสาธารณรัฐที่ 5 ไม่เหมือนกับระบบดั้งเดิมของฝรั่งเศสและก็ไม่เหมือนกับระบอบการปกครองแบบรัฐสภาแห่งอื่น ๆ กล่าวคือ สมาชิกรัฐสภาของฝรั่งเศสเมื่อได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีแล้วก็จะต้องลาออกจากตำแหน่งสมาชิกรัฐสภาอันเป็นสภานิติบัญญัตนั้น ปัจจุบันได้พยายามหาทางแยกคณะรัฐมนตรีออกจากนโยบายของพรรคการเมืองและการเมืองในยุทธศาสตร์ รัฐสภา โดยจะแต่งตั้งบุคคลที่มิได้เป็นสมาชิกรัฐสภา ตลอดจนนักบริหาร ข้ารัฐการ และนักเทคนิคให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เมื่อกล่าวโดยภาพรวมแล้วหน้าที่ในการกำหนดนโยบายจะถูกถ่ายโอนไปให้แก่ประธานาธิบดีเป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนคณะรัฐมนตรีก็จะทำหน้าที่เป็นเครื่องมือในการประสานความ ร่วมมือระหว่างรัฐมนตรีต่าง ๆ และสนองนโยบาย การอภิปรายอย่างเอาเป็นเอาตายและการ ถกแถลงนโยบายอย่างยืดยาวจะไม่มีในคณะรัฐมนตรีภายใต้การควบคุมของนายกรัฐมนตรี แต่กิจกรรมดังกล่าวอาจเกิดขึ้นเมื่อนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีประชุมกันเป็นคณะรัฐมนตรีโดยมีประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเป็นประธานในการชี้นำและการมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในการอภิปรายและการถกแถลงกันดังกล่าว แม้ว่ารัฐสภาอาจจะไม่พอใจการทำงานของคณะรัฐมนตรีได้ก็จริง แต่จากการที่ประธานาธิบดีมีอาวุธสำคัญคือสามารถยุบสภาได้ สามารถขอประชามติได้ และสามารถปกครองด้วยอำนาจฉุกเฉินได้ เหล่านี้ก็จะนำมาใช้เพื่อคุ้มครองรัฐบาลให้อยู่ในตำแหน่งได้

France : Constitution

ฝรั่งเศส : รัฐธรรมนูญ

กฎหมายพื้นฐานของสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 5 รัฐธรรมนูญมอบอำนาจให้แก่ประธานาธิบดีให้สามารถปกครองด้วยอำนาจฉุกเฉินได้ จึงทำให้ประธานาธิบดีสามารถปกครองโดยกฤษฎีกาได้ ประธานาธิบดีจะเป็นผู้คัดเลือกตัวนายกรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีต่อไปก็จะเป็นผู้เสนอแนะประธานาธิบดีในการแต่งตั้งบุคคลที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี ระบบรัฐสภาของฝรั่งเศสมีข้อแตกต่างจากระบอบการปกครองแบบรัฐสภาแบบคลาสสิก คือ เป็นระบอบที่รัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีจะทำหน้าที่เป็นสมาชิกรัฐสภาในขณะเดียวกันไม่ได้ ส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับการเลือกสรรองค์ประกอบ และการจัดองค์การรัฐสภา ตลอดจนหน่วยงานของฝ่ายศาลยุติธรรมและของฝ่ายบริหารต่าง ๆ จะละไว้ให้เป็นหน้าที่ของกฎหมายหลักและกฎหมายลูกอื่น ๆ นอกจากนี้แล้ว รัฐธรรมนูญก็ยังได้กำหนดให้มีการจัดตั้งประชาคมขึ้นมาแทนที่สหภาพฝรั่งเศสแห่งสาธารณรัฐที่ 4

ความสำคัญ รัฐธรรมนูญมิได้สร้างสาธารณรัฐแบบคลาสสิกที่ผู้แทนของประชาชนใช้อำนาจในนามของประชาชนและรับผิดชอบโดยทางกฎหมายต่อประชาชน แต่ให้อำนาจไปรวมอยู่ในมือของประธานาธิบดี ซึ่งประธานาธิบดีก็มิได้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชนผู้มีอำนาจอธิปไตยเท่ากับที่เป็นผู้กุมบังเหียนชะตากรรมของรัฐ รัฐธรรมนูญในเบื้องแรกถูกร่างขึ้นมาตามแนวความคิดของประธานาธิบดีชาร์ลส์ เดอ โกลล์ ซึ่งในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1958-1969 เขาได้ปรับแต่งรัฐธรรมนูญโดยอิงอาศัยหลักการต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญให้สามารถใช้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ง่าย ๆ และสามารถเปลี่ยนแปลงได้โดยการตีความ

France : Constitutional Council

ฝรั่งเศส : สภารัฐธรรมนูญ

องค์กรตรวจสอบที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อให้ทำหน้าที่คุ้มครองรัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 5 องค์กรที่มีอยู่ก่อนหน้าสภารัฐธรรมนูญนี้ก็คือคณะกรรมาธิการรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐที่ 4 ซึ่งทำหน้าที่แก้ไขข้อพิพาททางอำนาจหน้าที่ระหว่างสองสภาของสภานิติบัญญัติ หน้าที่หลักของสภารัฐธรรมนูญก็คือระงับข้อขัดแย้งระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ นอกจากนี้แล้วรัฐธรรมนูญก็ยังได้กำหนดให้มีการปรึกษาหารือกับสภารัฐธรรมนูญว่ากฎหมายหลักและกฎเกณฑ์ของสภาทั้งสองขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐจะต้องปรึกษาหารือกับสภา รัฐธรรมนูญเกี่ยวกับระเบียบปฏิบัติต่าง ๆ เมื่อต้องการจะใช้อำนาจฉุกเฉินที่จะต้องปกครองด้วยกฤษฎีกา สภารัฐธรรมนูญจะคอยกำกับการลงประชามติและการเลือกตั้งตลอดจนคอยระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ประธานของสองสภา ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐ และนายกรัฐมนตรี อาจนำร่างกฎหมายเสนอต่อสภารัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาก่อนที่จะประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายก็ได้ สภา รัฐธรรมนูญประกอบด้วย (1) คณะตุลาการจำนวน 9 คน ซึ่งจะดำรงตำแหน่งวาระละ 9 ปีและเมื่อ ครบวาระแล้วจะกลับมาเป็นอีกไม่ได้ และ (2) อดีตประธานาธิบดีทุกคนของสาธารณรัฐซึ่งเป็นสมาชิกโดยตำแหน่งตลอดชีวิต สำหรับตัวประธานของสภารัฐธรรมนูญจะได้รับการแต่งตั้งจากประมุขแห่ง รัฐ (ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐ)

ความสำคัญ สภารัฐธรรมนูญมีลักษณะอ่อนแอ คือการตกลงใจของสภารัฐธรรมนูญเป็นแค่การเสนอแนะและไม่มีผลผูกพัน มีอยู่หลายครั้งที่สภารัฐธรรมนูญไม่ประสบความสำเร็จจากความพยายามที่จะจำกัดกิจกรรมของพลเอกเดอโกลล์ ซึ่งได้ใช้เกียรติภูมิของตนกระทำตามอำเภอใจ และหาความ ชอบธรรมในการปกครองจากประชาชนโดยตรงโดยวิธีขอประชามติ จากผลในข้อนี้เองทำให้ฝรั่งเศส ไม่มีสถาบันที่มีประสิทธิผลพอที่จะตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารเหมือนอย่างที่ศาลทำหน้าที่นี้ในสหรัฐอเมริกาและรัฐสภาทำหน้าที่นี้ในอังกฤษ

France : Council of State

ฝรั่งเศส : สภาแห่งรัฐ

สถาบันที่มีสมาชิกเกือบ 200 คน มีสถานะเป็นสถาบันระดับสูงสุดของระบบบริหารรัฐกิจของฝรั่งเศส หน้าที่ทางด้านบริหารจัดการของสภาแห่งรัฐนี้ครอบคลุมไปถึงเรื่องการคลัง การมหาดไทย การโยธาธิการ และการสังคม ส่วนหน้าที่ทางด้านการศาลของสภาแห่งรัฐ ได้แก่ ทำหน้าที่พิจารณาคดีที่เกิดจากผลกระทบของกฎหมายปกครองต่อสิทธิของพลเมือง ในด้านบทบาทในทางนิติบัญญัตินั้น สภาแห่งรัฐนี้จะให้คำแนะนำคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับความถูกต้องตามกฎหมายและผลของการนำกฎหมายมาใช้บังคับ นำร่างกฎหมายมาประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมาย สภาแห่งรัฐมีลักษณะเหมือนกับสภารัฐธรรมนูญ คือถูกออกแบบมาเพื่อใช้ควบคุมการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจฉุกเฉินให้อยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญ สภาแห่งรัฐยังมีบทบาทในการแก้ไขข้อพิพาททางด้านอำนาจหน้าที่ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร เมื่อกฎหมายละเมิดรัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐที่ 5 สภาแห่งรัฐก็จะทำการตัดสินอำนาจหน้าที่ระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ถ้าความขัดแย้งเกิดขึ้นภายใต้กฎหมายลูกที่ออกมาภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ก็ให้นำเรื่องขึ้นสู่การพิจารณาของสภารัฐธรรมนูญ

ความสำคัญ สภาแห่งรัฐเป็นสถาบันที่มีเอกลักษณ์ของฝรั่งเศสโดยเฉพาะ มีความเป็นมาสืบเนื่องมาจากยุคของจักรพรรดินโปเลียน และเป็นสถาบันที่ไม่เหมือนกับสถาบันใด ๆ ในระบอบการปกครองของสหรัฐอเมริกาและในระบอบการปกครองของอังกฤษ ในขั้นสุดท้ายนั้นสภาแห่งรัฐจะทำหน้าที่เป็นศาลพิจารณาคดีที่เกี่ยวกับกฎหมายปกครองซึ่งในฝรั่งเศสจะไม่เหมือนอย่างในอังกฤษและในสหรัฐอเมริกา คือจะจัดให้คดีเกี่ยวกับกฎหมายปกครองทั้งหมดแยกไปอยู่ต่างหากโดยให้มีระบบศาลแยกออกไปต่างหากเพื่อบริหารจัดการและบังคับใช้ ในส่วนที่เกี่ยวกับกลไกการทำงานทางด้านการบริหารจัดการนั้น งานของสภาแห่งรัฐนี้เทียบได้กับงานของสำนักบริหารและจัดการงบประมาณ (โอบีเอ็ม) ของสหรัฐเมริกาและสำนักงานการคลังของอังกฤษ

France : Economic and Social Council

ฝรั่งเศส : สภาเศรษฐกิจและสังคม

องค์กรที่ปรึกษาในระดับชาติที่จัดตั้งขึ้นมาโดยรัฐธรรมนูญให้มาทำหน้าที่ให้คำแนะนำแก่รัฐบาลทางด้านโครงการทางเศรษฐกิจและสังคมต่าง ๆ สภาเศรษฐกิจและสังคมเป็นองค์กรที่ปรึกษาซึ่งประกอบด้วยข้ารัฐการ ตัวแทนของกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ บุคคลที่มีชื่อเสียงทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมในวงสังคมของประเทศฝรั่งเศส ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 200 คน สมาชิกเหล่านี้ส่วนหนึ่งจะได้รับแต่งตั้งมาจากภาครัฐบาล และอีกส่วนหนึ่งเป็นการแต่งตั้งจากกลุ่มต่าง ๆ ที่ส่งมา สภาเศรษฐกิจและสังคมยังขาดอำนาจในอันที่จะริเริ่มออกกฎหมาย แต่ก็อาจจะได้รับเชิญจากรัฐบาลให้ไปแสดงความเห็นเกี่ยวกับร่างกฎหมาย กฤษฎีกา คำสั่งของรัฐบาล หรือ เกี่ยวกับร่างกฎหมายของรัฐสภา จะมีการขอคำแนะนำจากสภาเศรษฐกิจและสังคมนี้ในส่วนที่เกี่ยวกับแผนเศรษฐกิจแห่งชาติ ซึ่งก็จะมีฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจเข้ามาร่วมเพื่อพิจารณางบประมาณแผ่นดินที่จะนำมาใช้ เป็นต้น

ความสำคัญ สภาเศรษฐกิจและสังคมมีสถานะเป็นองค์กรสูงสุดในระบบองค์กรที่ปรึกษาของฝรั่งเศส ซึ่งออกแบบเพื่อให้มาช่วยเหลืองานต่าง ๆ ของรัฐบาล งานของกระทรวงต่าง ๆ และงานของรัฐสภา สภาเศรษฐกิจและสังคมนี้พัฒนาขึ้นมาจากการที่ฝรั่งเศสให้การยอมรับแนวความคิดในเรื่องความ รับผิดชอบของภาครัฐบาลที่จะสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจและสังคม และจากความจำเป็นที่จะให้คนให้การสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาลโดยอิงกระบวนการปรึกษาหารือ แม้ว่าสภาเศรษฐกิจและสังคมจะมีลักษณะคล้ายคลึงกับสถาบันต่าง ๆ ของสาธารณรัฐที่ 3 และของสาธารณรัฐที่ 4 แต่วัตถุประสงค์ของสภาเศรษฐกิจและสังคมก็คือให้การบริการแก่ฝ่ายรัฐบาลยิ่งกว่าที่จะให้แก่รัฐสภา

France : Gaullism

ฝรั่งเศส : ลัทธิชาร์ลส์ เดอ โกลล์

ปรัชญาการเมืองของประธานาธิบดีชาร์ล เดอ โกลล์แห่งฝรั่งเศส และอิทธิพลของปรัชญานี้ที่มีต่อวิถีชีวิตของคนฝรั่งเศสในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา สาระสำคัญของลัทธิชาร์ล เดอ โกลล์ คือ แนวความคิดที่ว่าผลประโยชน์ของชาติจะต้องอยู่เหนือเหตุผลของประโยชน์ส่วนตัวตามการตีความของชาร์ล เดอ โกลล์ และชาร์ล เดอ โกลล์ได้ทำการเปลี่ยนแปลงน้ำหนักในนโยบายของฝรั่งเศสโดยได้ลดระดับความสำคัญของการเมืองที่เคยมีมาแต่เดิมลงมา แต่ได้ไปทำให้ตำแหน่งประธานาธิบดีมีลักษณะโดดเด่นขึ้นมาในรัฐบาล ชาร์ล เดอ โกลล์ ได้วางแนว ความคิดไว้ว่า การบริหารรัฐการแผ่นดินจะให้เกิดประสิทธิผลจะต้องดำเนินการโดยข้ารัฐการที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองโดยมีเหตุจูงใจมาจากแนวความคิดของชาร์ล เดอ โกลล์ ที่ว่า “จะต้องเป็นความจริงที่ยึดหลักผลประโยชน์ของชาติเชิงวัตถุวิสัย” ชาร์ล เดอ โกลล์ ยืนยันว่าเขาได้ความจงรักภักดีอย่าง จริงใจจากผู้ใต้บังคับบัญชา แต่ในขณะเดียวกันเขาก็ได้เผชิญกับการคัดค้านอย่างต่อเนื่องจากพวกคนที่ท้าทายปรัชญาการปกครองของเขา ถึงแม้ว่าชาร์ล เดอ โกลล์จะแสดงทีท่าว่าพร้อมที่จะบดขยี้กับ ทุกสิ่งทุกอย่างที่มาขัดขวางเขา แต่ในขณะเดียวกันนั้นเขาก็ได้แสดงออกถึงความมุ่งมั่นที่จะยึดหลักการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแทบทุกตัวอักษรเลยก็ว่าได้ จากลักษณะท่าทางที่เขาแสดงออกมาในที่สาธารณะ และจากรายงานของสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ ได้แสดงออกมาให้เห็นโดยโจ่งแจ้งว่า ชาร์ล เดอ โกลล์เป็นประธานาธิบดีที่ยืนอยู่เหนือการเมือง เป็นสัญลักษณ์ขององค์อธิปัตย์ที่มีอำนาจอธิปไตยและเป็นผู้ประกันในเอกราชและบูรณภาพแห่งชาติฝรั่งเศสอย่างแท้จริง

ความสำคัญ ประวัติศาสตร์ของสาธารณรัฐที่ 5 จนถึง ค.ศ. 1965 ได้ถูกครอบงำโดยบุคลิกภาพของประธานาธิบดีชาร์ล เดอ โกลล์ เขาได้ช่วยพลิกฟื้นฝรั่งเศสจากสภาพของประเทศที่ตกอับอ่อนแอ ทั้งภายในและภายนอกประเทศให้กลับมาผงาดสามารถเรียกเกียรติภูมิระหว่างประเทศและความภาคภูมิใจของคนในชาติกลับคืนมาได้อีกครั้งหนึ่ง รูปแบบปัจจุบันของรัฐบาลฝรั่งเศสดู ๆ ไปแล้วส่อแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนในเทคนิคการปกครอง ของประเทศ และก็คงจะมิใช่เรื่องที่ เกิดจากการกระทำของคนคนเดียวอย่างแน่นอน ปัญหาของการสืบทอดเจตนารมณ์ของลัทธิชาร์ล เดอโกลล์ ในฝรั่งเศสได้ดลี่คลายลงไปได้เมื่อ ค.ศ. 1969 ซึ่งเป็นปีที่นายจอร์จ ปอมปิดูได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี ทว่าผลกระทบของลัทธิชาร์ลเดอโกลล์ต่อการเมืองฝรั่งเศสก็ยังมีประจักษ์พยานให้เห็นในช่วงทศวรรษปี 1980

France : Minister of Foreign Affairs

ฝรั่งเศส : รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

รัฐมนตรีผู้ทำหน้าที่พัฒนาและบริหารนโยบายต่างประเทศของฝรั่งเศส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดีโดยการเสนอแนะของนายกรัฐมนตรี และประธานาธิบดีสามารถถอดถอนเขาออกจากตำแหน่งได้ด้วย ประธานาธิบดีจะเป็นผู้กำหนดบทบาทของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะให้คำแนะนำแก่ประธานาธิบดีและมีส่วนร่วมในการถกแถลงของสภารัฐมนตรี

ความสำคัญ ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาลของฝรั่งเศสที่มีมาแต่เดิมได้ถูกเปลี่ยนแปลงจากผลกระทบของลัทธิชาร์ล เดอ โกลล์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของฝรั่งเศสเทียบได้กับตำแหน่ง “เซ็กเครตตารี ออฟ สเต็ต” ของสหรัฐอเมริกานั่นเอง ด้วยเหตุที่ระบอบ การปกครองของฝรั่งเศสมีแนวโน้มไปในทางการปกครองแบบประธานาธิบดี ดังนั้นจึงถือว่าหัวหน้าฝ่ายบริหารเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการกำหนดนโยบายต่างประเทศ ซึ่งข้อนี้ไม่น่าจะถูกท้าทายโดยรัฐสภาได้สำเร็จ

France : National Assembly

ฝรั่งเศส : สมัชชาแห่งชาติ

สภาล่างแต่มีอำนาจมากของรัฐสภาฝรั่งเศสที่เป็นระบบสองสภา สมาชิกจำนวนทั้งหมด 490 คนของสมัชชาแห่งชาตินี้ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาดำรงตำแหน่งวาระละ 5 ปี จากเขตเลือกตั้งในแบบเขตเดียวเบอร์เดียวภายใต้ระบบสองบัตรเลือกตั้ง ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่จะได้รับการเลือกตั้งในการหย่อนบัตรเลือกตั้งครั้งแรกนั้นจะต้องได้รับคะแนนเสียงข้างมาก แต่ก็จะต้องได้รับคะแนนเสียงจากผู้ลงคะแนนเสียงอย่างน้อย 25 เปอร์เซ็นต์ มิฉะนั้นแล้วก็จะต้องมีการลงคะแนนเสียงเป็นครั้งที่ 2 ในอีกหนึ่งสัปดาห์ต่อมา และผู้สมัครที่ได้คะแนนเสียงส่วนใหญ่จะได้รับการประกาศชื่อเป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง ผู้สมัครรับเลือกตั้งจะต้องจ่ายเงินค่าประกันการเลือกตั้ง ซึ่งเงินจำนวนนี้จะถูกริบเว้นเสียแต่ว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้นั้นได้คะแนนเสียงเลือกตั้งตั้งแต่ 5 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป หากผู้สมัครรับเลือกตั้งได้คะแนนเสียงเกิน 5 เปอร์เซ็นต์ก็จะได้รับเงินประกันการเลือกตั้งคืน และรัฐก็ยังจะให้เงินอุดหนุนสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งอีกด้วย สมาชิกของสมัชชาแห่งชาติจะต้องมีอายุอย่างน้อย 23 ปี หากเป็นชายต้องผ่านการเกณฑ์ทหารแล้ว และจะต้องเป็นพลเมืองของฝรั่งเศสมาอย่างน้อย 10 ปี รัฐสภาจะประชุมในสมัยประชุมในต้นฤดูใบไม้ผลิ 3 เดือน และในสมัยประชุมในฤดูใบไม้ร่วง 2 เดือนครึ่ง

ความสำคัญ บทบาทของสมัชชาแห่งชาติในสาธารณรัฐที่ 5 ถูกจำกัดอย่างมากจากการที่มีการแบ่งอำนาจการตรากฎหมายระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ ความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของทั้งสองฝ่ายนี้จะได้รับการแก้ไขโดยสภารัฐธรรมนูญหรือโดยฝ่ายบริหาร ซึ่งฝ่ายบริหารจะเป็นผู้กำหนดระเบียบวาระการประชุมของฝ่ายนิติบัญญัติ วิธีการควบคุมรัฐบาลของฝ่ายรัฐสภานั้นได้ถูกดัดแปลงเพื่อให้สมัชชาแห่งชาติสามารถลมล้างรัฐบาลได้แต่ในทางทฤษฎีเท่านั้น แต่ในทางปฏิบัตินั้นสมัชชาแห่งชาติไม่มีอำนาจที่จะจัดตั้งรัฐบาลใหม่ เพราะหน้าที่ในการแต่งตั้งรัฐบาลใหม่เป็นของประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐ โดยการปรึกษาหารือกับนายกรัฐมนตรีที่ได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดีนั่นเอง แม้ว่าอำนาจของฝ่ายบริหารจะแทรกแซงเข้าไปในขอบเขตที่เป็นอำนาจหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ระบบของฝรั่งเศสก็ยังคงมีลักษณะแบบรัฐสภา แต่ก็มีลักษณะที่มีแนวความคิดแบบแยกอำนาจของสหรัฐอเมริกา

France : Parliament

ฝรั่งเศส : รัฐสภา

ฝ่ายนิติบัญญัติที่มีระบบสองสภาของสาธารณรัฐที่ 5 ของฝรั่งเศส ได้แก่ สภาล่าง คือ สมัชชาแห่งชาติ ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 490 คน และวุฒิสภา คือ สภาสูง ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 283 คน รัฐสภาประชุมกันปีละ 2 สมัยประชุม ซึ่งมีเวลารวมกันแล้วต้องไม่เกิน 170 วัน การประชุมสมัยพิเศษสามารถกระทำได้โดยการเรียกร้องของนายกรัฐมนตรีหรือโดยสมัชชาใหญ่ แต่ละสภาจะได้รับการบิหารจัดการโดยเจ้าหน้าที่รัฐสภาและมีประธานทำหน้าที่ประธานอีก 1 คน ในระบบของฝรั่งเศสในสมัยก่อน ๆ มีคณะกรรมาธิการสามัญหลากหลายคณะ แต่ปัจจุบันได้ถูกลดจำนวนลงมาให้แต่ละสภามีคณะกรรมาธิการเพียง 6 คณะ และแต่ละคณะก็จะมีสมาชิกไม่มากนัก มีการบังคับให้สมาชิกต้องเข้าประชุมสภาในสมัยประชุมต่าง ๆ ใครขาดประชุมจะถูกตัดเงินเดือน ฝ่ายบริหารจะควบคุมการทำงานของรัฐสภา แต่สมาชิกในคณะรัฐบาลมีข้อห้ามมิให้เป็นสมาชิกในสภานิติบัญญัติในขณะเดียวกัน ในขณะที่มีการรักษารูปแบบการปกครองแบบรัฐสภาเอาไว้แต่สาระของการปกครองแบบรัฐสภากลับถูกลดลง ยกตัวอย่างเช่น ที่มีการตั้งคำถามกันว่าอำนาจที่จะล้มล้างรัฐบาลโดยการลงคะแนนเสียงไม่ให้ความไว้วางใจเดี๋ยวนี้ยังมีอยู่จริง ๆ หรือไม่

ความสำคัญ การปกครองแบบรัฐสภาในรูปแบบคลาสสิกนั้นไม่ได้มีจริง ๆ ในสาธารณรัฐที่ 5 ของฝรั่งเศส แต่เป็นการสถาปนาระบอบการปกครองแบบประธานาธิบดี (ตามแนวความคิดที่ต้องการความมีประสิทธิผลของการบริหารของพลเอกชาร์ล เดอ โกลล์) ภายใต้การนำของประธานาธิบดี แห่งสาธารณรัฐ ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นผู้ปกป้องคุ้มครองผลประโยชน์แห่งชาติของฝรั่งเศส ถึงแม้ว่าจะเป็นระบบที่ไม่ได้รับอานิสงส์จากความมีเอกภาพระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติเหมือนอย่างระบบรัฐสภาโดยทั่วไป แต่ภายใต้ภาวะผู้นำของพลเอกชาร์ล เดอ โกลล์ระบบนี้สามารถผ่าทางตันต่าง ๆ ที่แสดงออกมาในระบบแยกอำนาจของสหรัฐอเมริกาได้ บทบาทในอนาคตของรัฐสภาฝรั่งเศสจะเป็นรูปใดขึ้นอยู่กับว่าผู้นำที่สืบทอดอำนาจต่อจากพลเอกชาร์ลส์ เดอ โกลล์มีภาวะผู้นำในส่วนที่สัมพันธ์กับ รัฐสภาเป็นแบบเดียวกับพลเอก ชาร์ล เดอ โกลล์หรือไม่

France : Party System

ฝรั่งเศส : ระบบพรรคการเมือง

การเมืองในประเทศฝรั่งเศสมีการจัดโดยอิงหลักพื้นฐานของระบบการเมืองแบบหลายพรรคการเมืองอันเป็นระบบที่ไม่มีพรรคการเมืองใดสามารถมีชัยชนะได้ครองเสียงข้างมาก การจัดตั้งรัฐบาลชุดต่าง ๆ ในอดีตเป็นแบบรัฐบาลผสม ซึ่งเป็นรูปแบบที่ไร้เสถียรภาพมากในช่วงสาธารณรัฐที่ 4 มีพรรคการเมืองในระดับชาติอยู่เพียงไม่กี่พรรค แต่พรรคการเมืองส่วนใหญ่แล้วเป็นพรรคการเมืองในระดับภูมิภาค ทั้งนั้น และผู้ลงคะแนนเสียงส่วนใหญ่ก็มีแนวโน้มที่จะรวมกลุ่มให้การสนับสนุนตัวผู้นำพรรคเป็นหลัก ชาวฝรั่งเศสไม่เห็นความสำคัญของความจงรักภักดีต่อพรรคและความมีเอกภาพของพรรคแต่อย่างใด เป็นพวกที่มีแนวโน้มในทางชอบความมีอิสระและยึดหลักปัจเจกชนนิยม บรรดาพรรคการเมืองต่างแสดงตัวว่ายึดนโยบายอย่างนั้นอย่างนี้ก็เพียงเพื่อวัตถุประสงค์ในการเลือกตั้งเท่านั้นเอง แต่จะไม่เหมือนเดิมเมื่อได้เข้ามาเป็นสมาชิกรัฐสภาแล้ว สมาชิกรัฐสภาแต่ละคนจะแสดงออกถึงความมีอิสระเป็นอย่างมาก ที่พร้อมจะนำตัวเองเข้าไปเกาะอยู่กับบรรดาผู้นำหรือกลุ่มต่าง ๆ ทางรัฐสภาในสมัชชาแห่งชาติ ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากว่าจะมีเพียงพรรคการเมืองหรือกลุ่มที่ประกอบด้วยสมาชิกเกินกว่า 30 คนเท่านั้นที่มีสิทธิได้เป็นผู้แทนในคณะกรรมาธิการต่าง ๆ หลังจากกลุ่มเหล่านี้ได้รับการจัดตั้งขึ้นมาแล้วก็จะพยายามดึงตัวบุคคลจากพรรคโน้นพรรคนี้ให้เข้ามาเป็นสมาชิกของกลุ่มตามอุดมการณ์ทางการเมือง แนวทางที่ยึดตัวบุคคลเป็นหลักมีปรากฏอยู่ในการเมืองและการปกครองแบบรัฐสภาของฝรั่งเศสเป็นอย่างมากจะมีข้อยกเว้นบ้างก็เฉพาะพวกคอมมิวนิสต์และพวกสังคมนิยมเท่านั้น

ความสำคัญ ภายใต้ระบบสาธารณรัฐที่ 5 นี้ อำนาจของพรรคการเมืองที่จะเข้าควบคุมกลไกของรัฐถูกตัดทอนให้น้อยลงเนื่องจากอำนาจในทางรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่นั้นได้นำไปให้แก่ฝ่ายบริหาร หากระบอบการปกครองของฝรั่งเศสยังคงรูปแบบเดิมนี้อยู่ต่อไป การเมืองของฝรั่งเศสก็อาจเกิดการ เปลี่ยนแปลงคือจากเดิมที่เป็นการชิงชัยระหว่างพรรคการเมืองไปเป็นการชิงชัยเพื่ออำนาจฝ่ายบริหารและอำนาจฝ่ายนิติบัญัติระหว่างรัฐบาลกับพรรคฝ่ายค้านก็ได้ ระบบพรรคการเมืองหลายพรรคของ ฝรั่งเศสมีลักษณะแตกต่างจากระบบสองพรรคของอังกฤษและระบบสองพรรคของสหรัฐอเมริกา ไม่ใช่ในแง่จำนวนของพรรคการเมือง แต่ในแง่ของความสามารถของระบบที่จะสร้างพรรคฝ่ายค้านที่มี ประสิทธิผล

France : Premier

ฝรั่งเศส : นายกรัฐมนตรี

ประมุขแห่งรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญในสาธารณรัฐที่ 5 ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐในฐานะที่เป็นประมุขแห่งรัฐจะเป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรีนี้ก็จะเป็นผู้เสนอแนะบุคคลที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีต่อประธานาธิบดีต่อไป นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีอื่น ๆ มีวาระการดำรงตำแหน่งที่ไม่ได้กำหนดไว้ตายตัว ประธานาธิบดีมีอำนาจที่จะถอดถอนรัฐมนตรีออกจากตำแหน่งได้ แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะมิได้ระบุถึงอำนาจถอดถอนของประธานาธิบดีนี้เอาไว้ก็ตาม บรรทัดฐานสำคัญเบื้องแรกสำหรับผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้นั้นก็คือต้องเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับของประธานาธิบดี และอันดับต่อมานั้นก็จะต้องได้รับการเห็นชอบจากสมัชชาแห่งชาติ นายกรัฐมนตรีได้รับมอบหมายเป็นทางการให้ทำหน้าที่ (1) ดำเนินกิจการของรัฐบาล (2) บังคับใช้กฎหมายและ (3) รับผิดชอบในการป้องกันประเทศ อย่างไรก็ตามรัฐธรรมนูญไม่ให้ความกระจ่างเกี่ยวกับหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีเป็นการเฉพาะ ด้วยเหตุนี้เป็นผลให้บุคลิกภาพของประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีตลอดจนถึงธรรมชาติของ สัมพันธภาพระหว่างบุคคลทั้งสองมีแนวโน้มที่จะเป็นตัวกำหนดบทบาทของนายกรัฐมนตรี

ความสำคัญ ในสาธารณรัฐที่ 3 และสาธารณรัฐที่ 4 นายกรัฐมนตรีมิได้เป็นแค่บุคคลที่มีชื่อเสียงทางการเมืองเท่านั้นแต่จะต้องเป็นนำในสมัชชาแห่งชาติด้วย ตรงกันข้ามกับระบบสาธารณรัฐที่ 5 ที่อำนาจฝ่ายบริหารเป็นของประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรีอยู่ในตำแหน่งได้ก็จะต้องจงรักภักดีต่อประธานาธิบดีอย่างสุดชีวิต นายกรัฐมนตรีจะต้องได้รับการสนับสนุนจากสมัชชาแห่งชาติให้ได้ตลอด แต่ก็ต้องเป็นผู้ประสานระหว่างประธานาธิบดีกับรัฐสภาโดยรับผิดชอบต่อนโยบายและการตัดสินใจของประธานาธิบดี เมื่อนายกรัฐมนตรีมีคุณสมบัติดังข้างต้นแล้วประธานาธิบดีก็จะมีภาพลักษณ์ว่าเป็นผู้มีอิสระและลอยตัวอยู่เหนือการเมือง เป็นผู้ประสานงานและผู้พิทักษ์ผลประโยชน์แห่งชาติอย่างแท้จริง

France : President

ฝรั่งเศส : ประธานาธิบดี

ประมุขรัฐแห่งสาธารณรัฐที่ 5 ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี ค.ศ. 1958 ประธานาธิบดีแห่งฝรั่งเศสได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งวาระละ 5 ปี โดยวิธีการเลือกตั้งโดยอ้อมโดยองค์คณะผู้เลือกตั้งจำนวน 80,000 คน ซึ่งคณะผู้เลือกตั้งส่วนใหญ่ประกอบด้วยบรรดาเทศมนตรีและผู้แทนจากคอมมูนเล็กๆต่างๆทั่วประเทศ ตลอดจนผู้แทนจากรัฐสภาและจากดินแดนภาคโพ้นทะเล นายพลชาร์ลส์ เดอ โกลล์ได้ทำการเปลี่ยนแปลงวิธีการดังกล่าวในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1962 เมื่อเขาได้รับความเห็นชอบจากประชาชนในการลงประชามติให้ประชาชนเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรง

ความสำคัญ ประธานาธิบดีใช้อำนาจเดิมที่ได้มอบให้แก่ฝ่ายบริหารฝรั่งเศสและอำนาจใหม่ที่ ไม่เหมือนกับของเดิม อำนาจใหม่เหล่านี้ได้แก่อำนาจของประธานาธิบดี (1) ที่จะแต่งตั้งนายก รัฐมนตรีโดยไม่จำเป็นว่าจะต้องได้รับความเห็นชอบจากสมัชชาแห่งชาติ (2) ที่จะเจรจาสนธิสัญญา และประกาศให้อภัยโทษ (3) ที่จะส่งสารถึงรัฐสภาและเรียกร้องให้รัฐพิจารณาร่างรัฐบัญญัติเสียใหม่ (4) ที่จะปกครองโดยอาศัยการจัดการลงประชามติ (5) ที่จะขอความเห็นจากสภารัฐธรรมนูญซึ่งหน้าที่ของสภารัฐธรรมนูญนี้มีลักษณะคล้ายๆกับแนวปฏิบัติของสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับการใช้การพิจารณาทบทวนโดยศาล (จูดิเชียลรีวิว) (6) ที่จะยุบสภาแล้วปกครองโดยอำนาจฉุกเฉินหลังจากที่ได้ปรึกษาหารือกับนายกรัฐมนตรี ประธานของสภานิติบัญญัติทั้งสองสภา และสภารัฐธรรมนูญแล้ว กล่าวได้ว่าในช่วงฉุกเฉินมีภัยเกิดขึ้นกับชาตินั้น ประธานาธิบดีสามารถทำอะไรได้เกือบจะทุกสิ่งทุกอย่างที่ตนเห็นว่ามีความจำเป็นเพื่อปกป้องรัฐ ปกป้องรัฐธรรมนูญและปกป้องข้อตกลงระหว่างประเทศ จะมีข้อจำกัดอยู่บ้างก็คือมโนธรรมของประธานาธิบดี และข้อกำหนดว่าจะต้องเป็นช่วงที่สมัชชาแห่งชาติอยู่ในระหว่างสมัยประชุม

France : Senate

ฝรั่งเศส : วุฒิสภา

สภาสูงหรือสภาที่ 2 ของรัฐสภาฝรั่งเศสซึ่งเป็นแบบสองสภา วุฒิสมาชิกหนึ่งในสามของจำนวนทั้งหมด 283 คนได้รับเลือกตั้งในทุก 3 ปีให้เข้าดำรงตำแหน่งวาระละ 9 ปี วุฒิสมาชิกต้องมีอายุอย่างน้อย 35 ปี จะได้รับการเลือกตั้งโดยอ้อมโดยองค์คณะผู้เลือกตั้งในจังหวัดต่าง ๆ ในพื้นที่ที่ประชากรหนาแน่นจะเลือกตั้งวุฒิสภาโดยระบบบัญชีรายชื่อ ส่วนในจังหวัดเล็ก ๆ ที่มีวุฒิสมาชิก 4 คนหรือน้อยกว่า จะใช้วิธีการลงคะแนนเสียง 2 ครั้ง อันเป็นวิธีที่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ที่ได้คะแนนเสียงข้างมากในการลงคะแนนเสียงข้างมากในการลงคะแนนเสียงครั้งแรกเป็นผู้ได้รับการประกาศชื่อให้เป็นผู้ได้รับการเลือกตั้ง ส่วนที่นั่งที่เหลือก็จะให้มีการเลือกตั้งในวันเดียวโดยวิธีการออกเสียงลงคะแนนได้หลายเสียงในการลงคะแนนเสียงครั้งที่ 2 การเลือกตั้งโดยอ้อมที่ออกแบบมาเพื่อใช้ถ่วงดุลการเลือกตั้งโดยประชาชนโดยตรงของสมัชชาแห่งชาตินี้ ก่อให้เกิดแนวคิดทางการเมืองแบบชนบทยิ่งกว่าจะเป็นแนวคิดแบบในเมืองในวุฒิสภา ความสำเร็จในการเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งขึ้นอยู่กับความภักดีต่อพรรค ชื่อเสียงและความสัมพันธ์ส่วนตัว ยิ่งกว่าที่มีอยู่ในการเลือกตั้งสมาชิกของสมัชชาแห่งชาติ ในทางเทคนิคนั้นวุฒิสภามีอำนาจเท่าเทียมกับสมัชชาแห่งชาติ และในทางทฤษฎีนั้นทั้งสองสภาล้มล้างกันไม่ได้ แต่ว่าในทางปฏิบัตินั้น จากการที่ทั้งสองสภามีอำนาจยันกันและกันเช่นนี้จึงส่งผลให้มีการโยนความริเริ่มไปให้แก่ฝ่ายรัฐบาล หากว่าฝ่ายบริหารตัดสินใจว่าจะไม่ดำเนินการใด ๆ ร่างรัฐบัญญัตินั้นก็จะถูก “เชือด” โดยปล่อยให้เทียวไปเทียวมาระหว่างสองสภา ตรงกันข้ามหากรัฐบาลต้องการจะให้ร่างรัฐบัญญัติผ่านเป็นกฎหมายรัฐบาลก็สามารถทำได้โดยการกำกับวิธีดำเนินการประชุมของกรรมาธิการ ซึ่งจะบังคับให้มีการทบทวนพิจารณาใหม่ในสองสภาตามวิธีการที่รัฐบาลกำหนดไว้แล้ว หากมีความจำเป็นรัฐบาลก็จะดำเนินการให้รัฐสภาแห่งชาติลงคะแนนเสียง ซึ่งก็จะมีผลล้มล้างวุฒิสภาได้ วุฒิสภาไม่เหมือนสมัชชาแห่งชาติตรงที่ไม่มีอำนาจที่จะล้มล้างรัฐบาล ประธานวุฒิสภาอาจจะทำหน้าที่เป็นประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเป็นการชั่วคราวได้เมื่อตำแหน่งประธานาธิบดีว่างลง

ความสำคัญ บทบาทของวุฒิสภาซึ่งเป็นสภาที่มีเกียรติภูมิสูงมากในสาธารณรัฐที่ 3 ได้ถูกลดลงไปอย่างมาก แต่ได้ไปเพิ่มบทบาทให้แก่ฝ่ายบริหาร ทำให้บทบาทของวุฒิสภามีน้อยกว่าบทบาทของสมัชชาแห่งชาติ อำนาจของวุฒิสภาถูกจำกัดให้มีแค่ทำการชะลอเวลาและให้คำเสนอแนะทางเลือกเท่านั้นเอง

Germany : (Federal Republic) : Bonn Constitution

เยอรมนี : (สหพันธ์สาธารณรัฐ) : รัฐธรรมนูญบอนน์

กฎหมายพื้นฐานของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ในปี ค.ศ. 1948 มหาอำนาจตะวันตกที่เข้ายึดครองเยอรมนีต้องการจะพื้นฟูเศรษฐกิจของเยอรมันและต้องการให้เยอรมนีมีบทบาทในการฟื้นฟูยุโรปด้วย จึงได้ตกลงกันให้เยอรมนีตะวันตกทำการปกครองตนเอง รัฐธรรมนูญบอนน์จึงถูกร่างขึ้นโดยสภารัฐสภา (พาร์เลียเมนทารีเคาซิล) ที่เลือกสรรโดยผู้ว่าการฝ่ายทหารของประเทศฝ่ายพันธมิตรและประธานมนตรีของรัฐเยอรมัน 7 รัฐในเขตยึดครองของ ฝ่ายอเมริกัน อังกฤษและฝรั่งเศส ผู้แทนจำนวน 65 คนที่ได้รับการคัดเลือกจากรัฐต่าง ๆ โดยแบ่งสรรปันส่วนกันตามสัดส่วนของความเข้มแข็งในหมู่พรรคคริสตเตียนเดโมแครต พรรคโซเชียลเดโมแครต พรรคฟรีเดโมแครต พรรคเซนทริสต์ พรรคเยอรมัน และพรรคคอมมิวนิสต์ ผู้แทนจากกรุงเบอร์ลินได้รับเชิญด้วยเหมือนกัน รัฐธรรมนูญบอนน์หรือกฎหมายพื้นฐานบอนน์นี้ได้รับความเห็นชอบจากฝ่ายพันธมิตรและได้รับการให้สัตยาบันโดยรัฐต่าง ๆ ในปี ค.ศ. 1949 รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้รับอิทธิพลจากรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐไวมาร์ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ก่อนสมัยฮิตเลอร์ อย่างไรก็ตามจากความต้องการของฝ่ายพันธมิตรที่ต้องการจะให้เป็นรัฐธรรมนูญที่มีระบบจัดการที่ดี มีรายละเอียดและมีความยาวมาก ๆ รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงได้สร้างระบบสหพันธรัฐ ขึ้นมาแทนที่จะเป็นระบบการปกครองแบบรวมอำนาจตามความประสงค์ของบรรดาตัวแทนต่าง ๆ ลักษณะสำคัญของรัฐธรรมนูญบอนน์มีดังนี้ (1) มีสภานิติบัญญัติเป็นระบบสองสภาโดยที่อำนาจนิติบัญญัติส่วนใหญ่อยู่กับสถาบันเดสแทก หรือ สภาล่าง (2) มีชาลเซลเลอร์ (นายกรัฐมนตรี) มีอำนาจมาก และ (3) มีประธานาธิบดีมีอำนาจน้อย ส่วนเมืองหลวงก็ให้จัดตั้งขึ้นที่กรุงบอนน์ จนกว่าจะรวมรัฐที่แบ่งแยกออกจากกันได้แล้วก็ให้กลับไปอยู่ที่กรุงเบอร์ลินตามเดิม (หมายเหตุ เยอรมนีตะวันตกและเยอรมนีตะวันออกได้รวมเป็นประเทศเดียวกัน เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ค.ศ. 1990 รัฐธรรมนูญบอนน์ หรือ กฎหมายพื้นฐาน ฉบับวันที่ 23 พฤษภาคม ค.ศ. 1949 ได้กลายเป็นรัฐธรรมนูญของประชาชนชาวเยอรมันที่มารวมกัน เมื่อ 3 ตุลาคม 1990)

ความสำคัญ รัฐธรรมนูญบอนน์มีชื่อเป็นทางการว่า “กฎหมายพื้นฐาน” ก็เพื่อจะเลี่ยงการยอมรับการแบ่งแยกประเทศเยอรมนีว่าเป็นการถาวร ในคำปรารภของรัฐธรรมนูญระบุว่า สภารัฐสภาในปี ค.ศ. 1948 พิจารณาเห็นว่าตนเป็นผู้แทนของคนเยอรมันทุกคนในอาณาเขตก่อนที่จะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 รวมทั้งดินแดนที่อยู่ในเขตยึดครองของโซเวียต (ต่อมาเรียกว่า สาธารณรัฐประชาธิปไตย เยอรมนี) ในการจัดตั้งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันตะวันตก เพื่อ “จัดระเบียบใหม่ให้แก่ชีวิตทางการเมืองในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ” รัฐธรรมนูญยังระบุด้วยว่า “กฎหมายพื้นฐานนี้จะเลิกบังคับใช้ในวันที่รัฐธรรมนูญที่ได้รับการยอมรับโดยการตกลงใจใหม่ของประชาชนเยอรมันได้นำมาใช้บังคับใช้แล้ว)

Germany (Federal Republic) : Bundesrat (Federal Council)

เยอรมนี (สหพันธ์สาธารณรัฐ) : บุนเดสรัต (สภาสหพันธ์)

สภาสูงสุดของรัฐสภาเยอรมันตะวันตก บุนเดสรัตประกอบด้วยสมาชิกประเภทที่มีสิทธิลงคะแนนเสียงจำนวน 51 คน และสมาชิกประเภทที่ไม่มีสิทธิลงคะแนนเสียงจากเบอร์ลินจำนวน 4 คน แต่ละรัฐของเยอรมัน (แลนด์) จะแต่งตั้งคณะผู้แทนซึ่งประกอบด้วยข้ารัฐการของรัฐ ผู้แทนของแต่ละรัฐมีน้ำหนักไม่เท่ากัน แต่ก็มิได้คิดตามสัดส่วนของประชากรเสียทีเดียว แต่ละรัฐจะมีผู้แทนอย่างน้อย 3 คน รัฐที่มีประชากรมากกว่า 2 ล้านคนก็จะมีผู้แทนได้ 4 คน ส่วนรัฐที่มีประชากรมากกว่า 6 ล้านคนจะมีผู้แทนได้ 5 คน ผู้แทนเหล่านี้ต่างมีพันธกรณีที่จะต้องฟังคำแนะนำจากรัฐบาลของรัฐตน และในเวลาลงคะแนนเสียงก็จะต้องลงอย่างพร้อมเพรียงกันด้วย สถานการณ์ทางการเมืองในระดับการปกครองส่วนท้องถิ่นจะสะท้อนให้เห็นในสภาสหพันธ์ในระดับชาติด้วย กล่าวคือ กระบวนการของพรรคในรัฐต่าง ๆ จะก่อให้เกิดคณะรัฐมนตรีและรัฐบาลผสมซึ่งแนะนำคณะผู้แทนแก่สภาสูง คณะกรรมาธิการสามัญของบุนเดสรัตจะต้องกลั่นกรองร่างรัฐบัญญัติของฝ่ายรัฐบาลทุกร่างที่จะมีผลต่อลังเดอร์ (รัฐบาลท้องถิ่น) ก่อนที่รัฐบาลจะเสนอร่างรัฐบัญญัติเหล่านี้ต่อบุนเดสแทก (สภาล่าง) ข้อนี้เองเป็นการตรวจสอบรัฐบาลกลางในระบบสหพันธ์ของเยอรมัน สภาสหพันธ์สามารถชะลอร่างกฎหมายที่ผ่านโดยสภาบุนเดสแทกได้เท่านั้น เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเงินและการแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่านั้นที่อำนาจของสภาสหพันธ์มีเท่าเทียมกับสภาล่าง คือ จะผ่านร่างกฎหมายได้จะต้องได้คะแนนเสียงส่วนใหญ่สองในสามในแต่ละสภา

ความสำคัญ รัฐบาลท้องถิ่นที่มีผู้แทนประจำอยู่ในสภาสหพันธ์นั้นมีความรับผิดชอบในการปฏิบัติให้เกิดผลเป็นจริงขึ้นมาตามกฎหมายแห่งชาติ ด้วยเหตุนี้เองการบริหารงานของรัฐบาลท้องถิ่นจึงเป็นการประสานหน้าที่ในการบัญญัติกฎหมายระหว่างระดับชาติกับทำให้กฎหมายได้รับการปฏิบัติตามในระดับท้องถิ่น นอกจากนั้นแล้วสภาสหพันธ์ก็ยังทำหน้าที่ป้องกันมิให้กฎหมายที่ออกมาในระดับชาติไปขัดแย้งกับผลประโยชน์ของระดับท้องถิ่นได้ จากการที่มีการตรวจสอบอำนาจในระดับชาติโดยองค์กรของรัฐนี้เองทำให้สภาสหพันธ์มีลักษณะเป็นประชาธิปไตยมากกว่าที่จะสูญเสียความมีอิสระในการทำงาน สภาสหพันธ์นี้มีลักษณะคล้ายกับวุฒิสภาของสหรัฐอเมริกา ตรงที่ทั้งสภาสหพันธ์และวุฒิสภาเป็นส่วนประกอบของสหภาพสหพันธ์ อย่างไรก็ตามสภาสหพันธ์ทำหน้าที่เป็นผู้แทนของรัฐบาลท้องถิ่น ส่วนวุฒิสภาสหรัฐฯเป็นผู้แทนของประชาชนของรัฐต่าง ๆ

Germany : (Federal Republic) : Bundestag (Federal Diet)

เยอรมนี (สหพันธ์สาธารณรัฐ) : บุนเดสแทก (สภาผู้แทนราษฎร)

สภาล่างแต่มีอำนาจในทางนิติบัญญัติมากของรัฐสภาเยอรมันตะวันตกที่เป็นแบบสองสภา บุนเดสแทกประกอบด้วยสมาชิกที่มีสิทธิลงคะแนนเสียงประมาณ 500 คนที่แบ่งสรรปันส่วนโดยยึดหลักประชากรในหมู่รัฐที่อยู่ในสหภาพสหพันธรัฐ นอกจากนี้แล้ว ก็ยังมีผู้แทนจากเบอร์ลินอีกประมาณ 20 คน ซึ่งจะเข้าร่วมในกิจกรรมทางนิติบัญญัติทั้งปวงแต่ก็จะไม่มีสิทธิลงคะแนนเสียงในการประชุมเต็มคณะ ในเขตลงคะแนนเสียงแต่ละเขตเลือกตั้งต่าง ๆ กึ่งหนึ่งจะได้รับเลือกตั้งโดยตรงกับอีกกึ่งหนึ่งจะได้รับเลือกตั้งโดยระบบมีผู้แทนตามสัดส่วน ในกฎหมายพื้นฐานระบุไว้ว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งจะต้องมีอายุอย่างน้อย 25 ปี และเป็นผู้ที่ได้รับการคัดเลือก “โดยการเลือกตั้งที่มีความเป็นสากล (ทั่วไป) โดยตรง มีความเท่าเทียมกัน และเป็นการลับ” เป็นผู้แทนของประชาชนทั้งประเทศ และไม่เป็นผู้ “รับคำสั่งและคำบงการจากใคร แต่เป็นผู้ที่กระทำการโดยมโนธรรมของตนเอง” สภาผู้แทนราษฎรมีการจัดตามแบบของฝรั่งเศสโดยยึดหลักอุดมการณ์ทางการเมืองจากฝ่ายซ้ายไปหาฝ่ายขวา แต่จะถูกครอบงำโดยพรรคที่มีอุดมการณ์กลางๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือพรรคสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียน และพรรคสังคมประชาธิปไตย อายุของสภาผู้แทนราษฎรคือ 4 ปีเว้นเสียแต่ว่านายกรัฐมนตรีจะเรียกร้องให้ยุบสภาและไม่ได้รับคะแนนเสียงความไว้วางใจ ในกรณีเช่นนี้ประธานาธิบดีแห่งชาติโดยคำแนะนำของนายกรัฐมนตรีก็จะยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งทั่วไปและทำการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ แม้ว่าการอภิปรายในสภาอาจจะมีความสำคัญมากว่าในสหรัฐอเมริกา แต่กิจกรรมทางด้านนิติบัญญัติและการประนีประนอมจะกระทำโดยคณะกรรมาธิการประจำหลายสิบคณะ ซึ่งสมาชิกของแต่ละคณะจะมีระหว่าง 15-30 คน และกลุ่มพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรจะมีผู้แทนไปประจำตามกรรมาธิการคณะต่าง ๆ ตามสัดส่วนของคะแนนเสียงที่ฝ่ายตนมีอยู่ในสภา งานของสภาผู้แทนราษฎรส่วนใหญ่จะถูกจัดและควบคุมโดยคณะกรรมาธิการควบคุมจัดการจำนวน 20 คน คือ สภาอาวุโสอันประกอบด้วยประธานสภา รองประธานสภา และผู้นำกลุ่มของพรรคการเมืองในรัฐสภา สภาอาวุโสนี้จะให้คำแนะนำผู้ที่จะเป็นประธาน เสนอแนะลำดับเรื่อง (ในระเบียบวาระการประชุมสภา) และจัดสรรเวลาในการอภิปราย หน้าที่ของสภาอาวุโสนี้เทียบได้กับหน้าที่ของคณะกรรมาธิการพิจารณข้อบังคับของสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐอเมริกา เมื่อสภาผู้แทนเลือกนายกรัฐมนตรีไปแล้ว อำนาจที่จะควบคุมนายกรัฐมนตรีจะมีอยู่อย่างจำกัดมาก แม้ว่าในขั้นสุดท้ายนายกรัฐมนตรีอาจถูกถอดถอนได้ก็จริงแต่จะต้องเป็นการถอดถอนโดยระเบียบปฏิบัติที่เรียกว่า “การลงคะแนนเสียงเชิงสร้างสรรค์” อันเป็นวิธีที่สภาผู้แทนลงคะแนนเสียงเรียกร้องให้ประธานาธิบดีแห่งชาติถอดถอนนายกรัฐมนตรี แต่ในขณะเดียวกันนั้นก็จะต้องเลือกบุคคลที่จะมาเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนี้เอาไว้ด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันมิให้เกิดความไร้เสถียรภาพของฝ่ายบริหารและเกิดวิกฤติการณ์ทางคณะรัฐมนตรีขึ้นมาได้

ความสำคัญ โครงสร้างของสภาผู้แทนราษฎรของเยอรมันตะวันตกซึ่งจัดตามบทบัญญัติที่มีอยู่ ในกฎหมายพื้นฐานนี้สะท้อนให้เห็นถึงการลอกเลียนแบบจากประสบการณ์การทำงานของระบบ การเมืองของอังกฤษ ฝรั่งเศสและอเมริกัน แต่ที่ได้มาจากจารีตประเพณีการปกครองดั้งเดิมของเยอรมันก็มีอยู่มากเหมือนกัน การณ์จึงปรากฏว่าสภาผู้แทนราษฎรนี้เป็นเครื่องมือที่นำมาใช้เพื่อพัฒนาประชาธิปไตยระบอบรัฐสภาที่แท้จริงในเยอรมนี แต่ในขณะเดียวกันนั้นจากการที่มีการสร้างให้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมีอำนาจมากที่สุดในระบบรัฐสภาก็ดี และจากการที่มีระบบการบริหารรัฐการแผ่นดินแบบรวมอำนาจไว้กับส่วนกลางมาก ๆ ก็ดี ก็สะท้อนให้เห็นได้เป็นอย่างดีว่าการใช้อำนาจนิยมในการปกครองยังไม่หมดไปจากวิถีชีวิตของคนเยอรมัน

Germany (Federal Republic) : Cabinet

เยอรมนี (สหพันธสาธารณรัฐ) : คณะรัฐมนตรี

สถาบันที่เมื่อรวมกับนายกรัฐมนตรีด้วยแล้วก็จะประกอบเป็นรัฐบาลของสหพันธ์สาธารณรัฐ คณะรัฐมนตรีประกอบด้วยรัฐมนตรีประมาณ 20 คน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่นายกรัฐมนตรีคัดเลือกจากสมาชิกพรรคการเมืองของตนเองนั่นเอง ส่วนตำแหน่งรัฐมนตรีที่เหลือก็จะแต่งตั้งจากบุคคลที่เกิดจากการเจรจาต่อรองระหว่างนายกรัฐมนตรีกับหัวหน้าพรรคการเมืองอื่น ๆ ที่ต้องการนำมาสนับสนุนในการจัดตั้งรัฐบาลผสม คณะรัฐมนตรีจะประชุมกันในสมัยการประชุมทางการของฝ่ายบริหารที่จัดขึ้นเป็นประจำ แต่ระเบียบวาระการประชุมจะไม่เปิดเผยแก่สาธารณชน การประชุมจะมีผู้เข้าร่วม คือ (1) รัฐมนตรี (2) ปลัดกระทรวง (ข้ารัฐการระดับสูงสุดในแต่ละกระทรวงซึ่งเป็นผู้มีบทบาทเหมือนกับปลัดกระทรวงของอังกฤษ) (3) หัวหน้าสำนักประธานาธิบดีสหพันธ์ (4) คนสนิทของนายกรัฐมนตรี (5) หัวหน้าสำนักหนังสือพิมพ์และสารสนเทศ (6) เลขาธิการคณะรัฐมนตรี และ (7) ผู้เชี่ยวชาญจำนวนหนึ่งที่ได้รับเชิญมาร่วมประชุมเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นการเฉพาะ รัฐมนตรีเท่านั้นถึงจะมีสิทธิลงคะแนนเสียงได้ และจะต้องมีรัฐมนตรีจำนวนกึ่งหนึ่งเข้าประชุมจึงจะครบองค์ประชุม นายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้ดำเนินการประชุมของคณะรัฐมนตรี ตามกฎเกณฑ์ที่ว่าด้วยการกำหนดนโยบายของรัฐบาล และกฎเกณฑ์ที่ว่าด้วยการพิจารณาปัญหาของรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล รัฐมนตรีอาจเสนอร่างกฎหมายในสภาผู้แทนราษฏรก็ได้ และกฎหมายต่าง ๆ จำนวนสามในสี่ มีจุดเริ่มต้นที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่าง ๆ นี่เอง แม้ว่ารัฐมนตรีจะได้รับการคาดหวังว่าจะต้องให้การสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในที่สาธารณะ แต่ก็มีเพียงบางคนเท่านั้นที่เป็นเช่นนี้และก็มีเพียงบางคนถูกนายกรัฐมนตรีตำหนิในที่สาธารณะ นายรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเกือบทุกคนเป็นสมาชิกที่ผ่านการเลือกตั้งในสภาผู้แทนราษฎรและอาจถูกตั้งกระทู้ถามโดยสมาชิกสภาผู้แทนก็ได้

ความสำคัญ ระบบคณะรัฐมนตรีของเยอรมันพัฒนาการมาจากประเพณีการปกครองของเยอรมันที่กำหนดให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจในการอำนวยการกิจกรรมต่าง ๆ ของกลุ่มข้าราชการระดับสูงให้เป็นไปตามนโยบายที่พระมหากษัตริย์ได้ทรงวางไว้แล้ว แต่เนื่องจากปัจจุบันไม่มีพระมหากษัตริย์หรือไม่มีประธานาธิบดีที่มีความเข้มแข็งทางการเมืองแล้ว อำนาจบริหารส่วนใหญ่จึงให้ไปอยู่กับนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีทำการกำหนดนโยบายในลักษณะร่วมกันพิจารณาก็มี หรือเป็นการให้ความยินยอมอย่างเป็นทางการแก่การกำหนดนโยบายของนายกรัฐมนตรีก็มี ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดนโยบายในลักษณะใด ประเพณีของเยอรมันไม่นิยมให้รัฐมนตรีที่เห็นแย้งกับนโยบายของรัฐบาลต้องลาออก รัฐมนตรีไม่ต้องรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฎรเพราะว่ามีนายก รัฐมนตรีเป็นผู้ประสานงานระหว่างคณะรัฐมนตรีกับสภาผู้แทนราษฎรอยู่แล้ว ซึ่งข้อนี้เองก็ได้ส่งผลให้คณะรัฐมนตรีเยอรมันมีเสถียรภาพอย่างมาก อย่างไรก็ตามรัฐบาลรับผิดชอบในความหมายของระบบอังกฤษหาได้มีอยู่ในระบบของเยอรมันไม่ เนื่องจากระบบของเยอรมันนิยมให้ผู้นำฝ่ายบริหารมีความแข็งแกร่ง คือ ยอมให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีทำงานได้โดยอิสระจากฝ่ายนิติบัญญัติยิ่งกว่าระบบอื่นๆ

Germany (Federal Republic) : Chancellor

เยอรมนี (สหพันธสาธารณรัฐ) : นายกรัฐมนตรี

หัวหน้าฝ่ายบริหารในระบบรัฐสภาแบบสหพันธ์ของเยอรมันตะวันตก นายกรัฐมนตรีได้รับเลือกตั้งอย่างเป็นทางการโดยยังไม่มีการอภิปรายโดยสภาผู้แทนชุดใหม่ภายหลังการเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไป นายกรัฐมนตรีจะถูกกำหนดตัวโดยประธานาธิบดี สหพันธ์ภายหลังจากที่ประธานาธิบดีสหพันธ์ได้เจรจาการคัดเลือกนี้กับพรรคการเมืองต่าง ๆ แล้ว หากนายกรัฐมนตรีได้เสียงข้างมากเด็ดขาดในการหย่อนบัตรลงคะแนนเสียงครั้งแรกแล้ว เขาก็จะได้รับแต่งตั้งจากประธานาธิบดีเป็นนายกรัฐมนตรีได้ แต่ถ้าไม่ได้เสียงข้างมากดังกล่าวสภาผู้แทนราษฎรก็มีเวลา 14 วันในการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรี แต่ถ้าไม่มีบุคคลใดได้รับเสียงข้างมากก็จะมีการหย่อนบัตรลงคะแนนเสียงเป็นครั้งที่ 3 โดยมิชักช้า และผู้จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นบุคคลที่ได้เสียงข้างมาก เมื่อลงคะแนนเสียงครั้งที่ 3 ยังไม่สามารถได้คะแนนเสียงข้างมากอีก ประธานาธิบดีมีเวลา 7 วันที่จะเลือกดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ระหว่าง (1) แต่งตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ได้เสียงส่วนใหญ่เหนือกว่าคู่แข่งขันเป็นนายกรัฐมนตรี หรือ (2) ยุบสภาผู้แทนราษฎรให้มีการเลือกตั้งใหม่ ในกรณีที่ไม่มีการเลือกตั้งทั่วไป นายกรัฐมนตรีคนใหม่สามารถเข้าดำรงตำแหน่งได้โดยผ่านทางวิธีปฏิบัติที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญว่าด้วยการลงมติไม่ไว้วางใจ “ในทางสร้างสรรค์” โดยให้สภาผู้แทนราษฎรให้ทำการถอดถอนนายกรัฐมนตรีคนเดิม แต่ทั้งนี้ก็จะต้องเลือกผู้ที่จะมาสืบทอดตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไปไว้ด้วย หากไม่ถูกถอดถอนด้วยวิธีการดังกล่าวนายกรัฐมนตรีก็จะอยู่ในตำแหน่ง 4 ปีเท่ากับอายุของสภาผู้แทนราษฎร นายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้จัดตั้งคณะรัฐมนตรีจากบุคคลในพรรคการเมืองของตนหากเป็นกรณีที่ได้ครองเสียงข้างมาก หรือโดยการเจราจากับพรรคการเมืองอื่นหากจำเป็นต้องจัดตั้งเป็นรัฐบาลผสม กฎหมายพื้นฐานกำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบต่อการกำหนดนโยบายของรัฐบาลและต่อการอำนวยการทั่วไปในงานของรัฐมนตรีแต่ละกระทรวงให้เป็นไปตามนโยบาย นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงจะต้องลงนามในกฎหมายทุกฉบับก่อนที่การลงนามของประธานาธิบดีจะมีผลบังคับในทางกฎหมาย จากข้อกำหนดนี้ทำให้เกิดปัญหาทางรัฐธรรมนูญถึงสิทธิในการวีโต้กฎหมาย นายกรัฐมนตรีเท่านั้นที่มีอำนาจทางกฎหมายที่จะถอดถอนรัฐมนตรีได้

ความสำคัญ อำนาจฝ่ายบริหารของนายกรัฐมนตรีเยอรมันตะวันตกเมื่อพิจารณาในแง่สัมพันธภาพระหว่างตัวนายกรัฐมนตรีกับประธานาธิบดี คณะรัฐมนตรี และรัฐสภาแล้ว ก็จะเห็นได้ว่ามีมากกว่าอำนาจของนายกรัฐมนตรีของประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจของนายกรัฐมนตรีของฝรั่งเศสและนายกรัฐมนตรีของอิตาลี คณะผู้ร่างกฎหมายพื้นฐานต้องการจะไม่ให้เกิดสภาวะสุดโต่งอย่างใดอย่งหนึ่ง คือ (1) ระบบที่ประธานาธิบดีมีอำนาจมาก กับ (2) ความไร้เสถียรภาพของระบบหลายพรรคการเมืองที่บรรดารัฐมนตรีถูกบีบให้ต้องคล้อยตามนโยบายของคณะรัฐมนตรีและต้องสนองตอบต่อข้อเรียกร้องของพรรคการเมืองของตนในขณะเดียวกันด้วย คนเยอรมันแก้ปัญหาข้อนี้ด้วยการให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจมาก แม้ว่านายกรัฐมนตรีจะไม่สามารถอ้างความชอบธรรมในการปกครองจากประชาชนและจะต้องรับผิดชอบโดยทางรัฐธรรมนูญต่อสภาผู้แทนแต่วาระการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีเมื่อเทียบกับระบบอื่นแล้วมีความมั่นคงมากกว่า ทั้งนี้ก็เพราะระบบเยอรมันนิยมความมีบุคลิกภาพที่เข้มแข็งในภาวะผู้นำ ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมีมิติต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมายในช่วงการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีคนแรกของเยอรมันช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คือ คอนราด อะเดนาเออร์ ซึ่งดำรงตำแหน่งระหว่างปี ค.ศ. 1949 – 1963

Germany (Federal Republic ) : Parliament

เยอรมนี (สหพันธ์สาธารณรัฐ) : รัฐสภา

สภานิติบัญญัติในแบบสองสภาของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันตะวันตก ได้แก่ สภาผู้แทนราษฎร (สภาล่าง หรือ บันเดสแทก) ประกอบด้วยสมาชิกประเภทลงคะแนนเสียงได้จำนวน 496 คนและสมาชิกประเภทที่ไม่สามารถลงคะแนนเสียงได้จากเบอร์ลินอีกจำนวน 22 คน สมาชิกทั้ง 2 ประเภทเป็นผู้แทนของประชาชนทุกคนของสาธารณรัฐ และเป็นสภาที่มีอำนาจมากกว่าอีกสภาหนึ่ง คือ สภาบุนเดสรัต (สภาสูง) อันประกอบด้วยผู้แทนจำนวน 41 คนจากรัฐ 10 รัฐของสหพันธ์สาธารณรัฐและอีก 4 คนที่ไม่มีสิทธิลงคะแนนเสียงจากเบอร์ลิน มีอำนาจวีโต้ทางนิติบัญญัติ และเป็นสภาทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของรัฐ คณะรัฐมนตรีระรายงานถึงสภาบุนเดสแทก ซึ่งถึงแม้จะไม่สามารถถอดถอนรัฐมนตรีได้แต่ก็สามารถถอดถอนนายกรัฐมนตรีโดยการเลือกตั้งบุคคลเข้ามาดำรงตำแหน่งแทนเผื่อไว้ก่อน ทั้งสองสภามีคณะกรรมาธิการหลายคณะในกระบวนการทางนิติบัญญัติประกอบด้วยสมาชิกที่มาจากพรรคการเมืองต่าง ๆ ตามเสียงที่มีอยู่ในสภาล่าง คณะกรรมาธิการจะไม่ค่อยควบคุมร่างรัฐบัญญัติเท่ากับในสหรัฐอเมริกา แต่ก็จะมีงานทางด้านนิติบัญญัติในช่วงอภิปรายในสภามากกว่าในกรณีของสภาคองเกรสของสหรัฐฯ การตรากฎหมายจะมีการดำเนินการดังนี้ (1) จากรัฐมนตรีจะมีการร่างกฎหมาย (2) ร่างรัฐบัญญัติจะส่งไปถึงคณะรัฐมนตรี (3) คณะรัฐมนตรีนำเสนอร่างรัฐบัญญัติต่อสภาสูงเพื่อการกลั่นกรองก่อน (4) จากนั้นก็จะนำเสนอต่อสภาล่าง (บุนเดสแทก) เพื่อดำเนินการ และ (5) ส่งร่างรัฐบัญญัติกลับคืนไปยังสภาสูงเพื่อการพิจารณาครั้งสุดท้าย

ความสำคัญ ระบอบการปกครองของเยอรมันเป็นระบอบที่มีฝ่ายบริหารมีอำนาจมาก ซึ่งส่งผลให้รัฐสภาเยอรมันไม่มีอำนาจและมีเกียรติภูมิเหมือนอย่างรัฐสภาในประเทศตะวันตกอื่นๆ นอกจากนั้นแล้วการพัฒนาสถาบันรัฐสภาได้ถึงภาวะชะงักงันโดยสิ้นเชิงในช่วงที่นาซีเรืองอำนาจ ปัจจัย ต่าง ๆ เหล่านี้เป็นตัวการสร้างแนวโน้มปัจจุบันของระบอบการปกครองของเยอรมันที่หน้าที่ในการตรากฎหมายถูกครอบงำโดยบทบาทการกำกับดูแลของฝ่ายบริหาร ภายใต้รัฐธรรมนูญบอนน์ที่กำหนดให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจมากนี้ รัฐสภาจะสามารถควบคุมฝ่ายบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่มีความไร้เสถียรภาพอันเป็นลักษณะของการปกครองในช่วงไวมาร์นั้นได้หรือไม่เป็นเรื่องที่จะต้องติดตามกันต่อไป

Germany (Federal Republic) : Party System

เยอรมนี (สหพันธ์สาธารณรัฐ) : ระบบพรรคการเมือง

ระบบหลายพรรคที่มีแนวโน้มว่าจะกลายเป็นระบบสองพรรค ระบบพรรคการเมืองของเยอรมันเกิดขึ้นด้วยความยินยอมของฝ่ายพันธมิตรในช่วงเข้ายึดครองเยอรมันหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นระบบที่ยังคงเป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมายพื้นฐาน (เบสิคลอว์) ของสหพันธ์สาธารณรัฐ ยกเว้นแต่ส่วนที่เป็นข้อห้ามมิให้มีพรรคนาซีใหม่และพรรคคอมมิวนิสต์เท่านั้น จากการที่กฎหมายเลือกตั้งมีความเคร่งครัดมากจึงเป็นการสกัดกั้นมิให้มีหลายพรรคการเมืองอันเป็นลักษณะที่เคยเกิดขึ้นในช่วงไวมาร์ พรรคการเมือง 10 พรรคที่ชิงชัยเพื่ออำนาจในช่วงท้ายของการยึดครองของพันธมิตรจึงได้รวมตัวกันเข้าเป็นพรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรค และพรรคการเล็กเมืองอีก 1 พรรคในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวคือ พรรคสหภาพคริสเตียนเดโมแครต (ซีดียู) พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย (เอสดีพี) และพรรคเสรีประชาธิปไตย (เอฟดีพี) พรรคซีดียูเป็นพรรคการเมืองยึดแนวทางสายกลางค่อนไปทางขวา ได้รับการสนับสนุนจากภาคธุรกิจของคนชั้นกลางและจากกรรมกรในภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรม พรรคซีดียูใช้แนวทางของศาสนาคริสต์ในทางการเมือง แต่ก็มิได้เป็นพรรคของพวกบาทหลวงแต่อย่างใด ส่วนพรรคเสรีประชาธิปไตยก็เป็นพรรคที่นิยมทางสายกลางค่อนไปทางขวาอีกเหมือนกัน แต่ก็ไม่เหมือนพรรคซีดียูตรงที่เป็นพรรคปฏิเสธบทบาทของศาสนาในทางการเมือง พรรคเอสดีพีซึ่งเป็นพรรคที่สองในพรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรคของเยอรมัน เป็นพรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นมาในช่วงจักรวรรดิเยอรมันและยังคงมีอยู่เรื่อยมาตราบจนถึงปัจจุบัน พรรคนี้นิยมสายกลางค่อนไปทางซ้าย ได้รับการสนับสนุนจากกรรมกรในภาคอุตสาหกรรม และโครงการต่าง ๆ ของพรรคก็มีลักษณะคล้ายกับ โครงการของพรรคแรงงานของอังกฤษ กลุ่มที่แยกออกไปจากพรรคเหล่านี้เป็นพวกซ้ายจัดบ้างขวาจัดบ้าง แต่เป็นกลุ่มที่ไม่ได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรเพราะกฎหมายระบุไว้ว่าพรรคการเมืองจะต้องได้คะแนนเสียง 5 เปอร์เซ็นต์จากคะแนนเสียงทั่วประเทศ หรือได้คะแนนเสียงข้างมากในเขตลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเขตใดแห่งหนึ่งเท่านั้นจึงจะได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร

ความสำคัญ แนวโน้มที่พรรคการเมืองในประเทศเยอรมนีจะเป็นระบบสองพรรคนี้ได้คืบหน้าไปถึงจุดที่พรรคซีดียูและพรรคเอสดีพีเป็นสองพรรคที่โดดเด่นที่สุดในทางการเมือง แต่ก็ยังมีพรรคการเมืองอื่น ๆ อยู่อีกเหมือนกัน ที่ระบบพรรคการเมืองแหวกไปจากประเพณีนิยมดั้งเดิมของเยอรมนี ได้นั้น ก็เพราะมีการเน้นย้ำในหลักนิยมของพรรคและประชาชนให้ความสนใจและเข้าร่วมใน การเมืองของพรรคเพิ่มมากขึ้น ในขณะเดียวกันระบบพรรคการเมืองของเยอรมันก็ยังคงเน้นที่ บทบาทดั้งเดิมที่ต้องการให้มีภวะผู้นำที่เข้มแข็งและขาดการริเริ่มทางการเมืองของภาคประชาชนอย่างกว้างขวางในการปกครองประชาธิปไตยแบบมีผู้แทนของเยอรมนี แม้ว่ารัฐบาลชุดต่าง ๆ ของเยอรมันนับตั้งแต่ ค.ศ. 1949 จะเป็นรัฐบาลผสมแต่ก็เป็นรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ

Germany (Federal Republic) : President

เยอรมนี (สหพันธ์สาธารณรัฐ) : ประธานาธิบดี

ประมุขทางการของรัฐซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความมีเอกภาพของชาติ แต่เป็นผู้ที่มีอำนาจทางการเมืองน้อย ประธานาธิบดีได้รับเลือกตั้งโดยอ้อมโดยการประชุมใหญ่ที่เรียกว่า เฟดเดอรัล คอนเวนชัน ซึ่งเรียกประชุมโดยประธานสภาผู้แทนราษฎร เฟดเดอรัลคอนเวนชันประกอบด้วยผู้ออกเสียงเลือกตั้งจำนวนกว่า 1000 คน ประกอบด้วยสมาชิกของสภาผู้แทนราษฎรในจำนวนที่เท่ากันที่ได้รับการคัดเลือกจากฝ่ายนิติบัญญัติของแต่ละรัฐตามสัดส่วนของจำนวนประชากร เฟดเดอรัลคอนเวนชันจะเริ่มต้นด้วยการอภิปรายถกแถลงกันก่อน หากไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใดได้คะแนนเสียงข้างมากในการหย่อนบัตรลงคะแนนเสียงในสองครั้งแรก บุคคลที่ได้คะแนนเสียงมากกว่าผู้แข่งขันคนอื่นในการลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งครั้งที่สามจะได้รับการประกาศชื่อให้เป็นผู้ได้รับการเลือกตั้ง วาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีคือ 5 ปี และกฎหมายยินยอมให้สามารถรับเลือกตั้งเข้ามาอีกสมัยหนึ่งติดต่อกันได้ พลเมืองเยอรมันทุกคนมีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีได้หากเป็นผู้มีอายุ 40 ปีและต้องเป็นผู้มีสิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งสมาชิกของสภาผู้แทนราษฎรด้วย ประธานาธิบดีจะทำหน้าที่เป็นประมุขรัฐโดยทางการเท่านั้น หาได้เป็นประมุขรัฐที่แท้จริงได้ กฎหมายใหม่ๆและกฎหมายแห่งรัฐอื่น ๆ กำหนดไว้ว่าการลงนามของประธานาธิบดีจะต้องมีนามของนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีนั้น ๆ กำกับ อยู่ด้วย การแต่งตั้งต่าง ๆ ก็ดี หน้าที่ทางความสัมพันธ์กับต่างประเทศก็ดี และกิจกรรมตามดุลพินิจที่ไม่เป็นทางการอื่น ๆ ก็ดีของประธานาธิบดีจะมีหน่วยงานต่าง ๆ ในโครงสร้างของฝ่ายบริหาร ทำการตัดสินใจแทนให้

ความสำคัญ กฎหมายพื้นฐานนี้สะท้อนให้เห็นรสนิยมของคนเยอรมันที่ประสงค์จะให้มีผู้นำทางฝ่ายบริหารที่มีความเข้มแข็ง แต่อำนาจฝ่ายบริหารนี้ไปรวมอยู่ที่นายกรัฐมนตรีหาได้อยู่ที่ประธานาธิบดีไม่ เนื่องจากประธานาธิบดีได้รับการเลือกตั้งมาโดยอ้อมเขาจึงไม่สามารถอ้างว่าได้รับความชอบธรรมจากประชาชนมาใช้เป็นพื้นฐานในการท้าทายภาวะผู้นำของนายกรัฐมนตรีได้ ด้วยเหตุนี้คณะผู้ร่างกฎหมายพื้นฐานจึงพยายามหลีกเลี่ยงปัญหาของภาวะผู้นำฝ่ายบริหารระดับสูงที่แยกออกจากกันเป็นสองส่วนนี้เสีย ดังนั้นจึงไม่มีประธานาธิบดีคนใด ไม่ว่าจะเป็นธีโอดอร์ เฮอุสส์, เฮนลิค ลึบเก, หรือ คาร์ล คาร์สเทนส์ สามารถยืนหยัดที่จะทำการริเริ่มส่วนตัวเพียงพอที่จะอาจหาญทำการตกลงใจในปัญหาทางรัฐธรรมนูญที่สำคัญ ๆ อย่างเช่น ปัญหาที่ว่าประธานาธิดีสามารถจะปฏิเสธที่จะไม่แต่งตั้งรัฐมนตรีที่ได้รับการคัดเลือกโดยนายกรัฐมนตรีมาแล้วได้หรือไม่

Italy : Council of Ministers(Cabinet)

อิตาลี : คณะรัฐมนตรี

รัฐบาลในระบอบรัฐสภาของอิตาลี คณะรัฐมนตรีอิตาลีตามปกติจะเป็นรัฐบาลผสม เนื่องจากไม่มีพรรคการเมืองพรรคใดเข้มแข็งพอที่จะครองเสียงข้างมากในรัฐสภาได้ ประธานาธิบดีก็จะปรึกษาหารือกับบรรดาหัวหน้าพรรคการเมืองต่าง ๆ เพื่อค้นหาว่าพรรคการเมืองพรรคใดจะร่วมมือในการจัดตั้งรัฐบาลผสมบ้าง จากนั้นประธานาธิบดีก็จะกำหนดตัวผู้ที่จะเป็นประธานคณะรัฐมนตรี (นายกรัฐมนตรี) และบุคคลผู้นี้ก็จะเป็นผู้เสนอแนะบุคคลที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีให้แก่ประธานาธิบดีต่อไป เพราะฉะนั้นคณะรัฐมนตรีที่จัดตั้งขึ้นมาก็จะรับผิดชอบต่อรัฐสภา และนายกรัฐมนตรีมีเวลา 10 วันที่จะขอความไว้วางใจในรัฐบาลของเขาจากทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา รัฐบาลจะสิ้นสุดลง (1) เมื่อรัฐบาลลาออกโดยความสมัครใจ (2) เมื่อรัฐสภาถูกยุบโดยประธานาธิบดีเพื่อให้มีการเลือกตั้งทั่วไป หรือ (3) เมื่อมีการผ่านญัตติพิเศษไม่ให้ความไว้วางใจจากสภาใดสภาหนึ่ง กฎหมายกำหนดให้มีรัฐมนตรีได้ประมาณ 20 คน แต่ก็อาจจะมีการแต่งตั้งรัฐมนตรีลอยในคณะรัฐมนตรีได้อีกจำนวนหนึ่ง สมาชิกของคณะรัฐมนตรีจะเป็นสมาชิกของรัฐสภาด้วย แม้ว่ากฎหมายจะไม่ได้กำหนดไว้ก็ตาม

ความสำคัญ คณะรัฐมนตรีของอิตาลีจะไม่มีเสถียรภาพ รัฐบาลชุดที่มีอายุเกินกว่า 1 ปีจะหาได้ยากมาก กระนั้นก็ดีถึงแม้ว่าจะมีวิกฤติในคณะรัฐมนตรีเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างไร แต่ก็มีความต่อเนื่องของรัฐบาล เพราะรัฐมนตรีหลายคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกที่มาจากพรรคคริสเตียน เดโมแครตจะเข้าดำรงตำแหน่งในกระทรวงต่าง ๆ ในรัฐบาลชุดต่อๆกันมา รัฐมนตรีแต่ละคนในคณะรัฐบาลผสมจะต้องรับผิดชอบต่อพรรคการเมืองของตน แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะกำหนดไว้ว่า รัฐมนตรีจะต้องรับผิดชอบร่วมกันต่อการกระทำทั้งปวงของรัฐบาลก็ตามที แม้ว่าคณะรัฐมนตรีจะรับผิดชอบโดยทางกฎหมายต่อรัฐสภาแต่โดยทางการเมืองนั้นก็จะต้องรับผิดชอบต่อองค์กรต่าง ๆ ของพรรคที่มาประกอบเป็นคณะรัฐบาลผสมด้วย กลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้มีแนวโน้มว่าจะต้องการให้สมาชิกในพรรคของตนลาออกจากรัฐบาลยิ่งกว่าจะปล่อยให้รัฐสภาลงมติไม่ให้ความไว้วางใจ ในทำนองเดียวกัน จากการที่รัฐบาลอิตาลีเป็นรัฐบาลผสม และพรรคการเมืองของอิตาลีมีลักษณะแยกกันเป็นกลุ่มๆทำให้ฝ่ายบริหารของพรรคและคณะรัฐมนตรีให้ความสนใจในปัญหาของนโยบายแห่งชาติอย่างกว้าง ๆ ได้เท่านั้น