Google

Thursday, October 22, 2009

Germany (Federal Republic) : Cabinet

เยอรมนี (สหพันธสาธารณรัฐ) : คณะรัฐมนตรี

สถาบันที่เมื่อรวมกับนายกรัฐมนตรีด้วยแล้วก็จะประกอบเป็นรัฐบาลของสหพันธ์สาธารณรัฐ คณะรัฐมนตรีประกอบด้วยรัฐมนตรีประมาณ 20 คน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่นายกรัฐมนตรีคัดเลือกจากสมาชิกพรรคการเมืองของตนเองนั่นเอง ส่วนตำแหน่งรัฐมนตรีที่เหลือก็จะแต่งตั้งจากบุคคลที่เกิดจากการเจรจาต่อรองระหว่างนายกรัฐมนตรีกับหัวหน้าพรรคการเมืองอื่น ๆ ที่ต้องการนำมาสนับสนุนในการจัดตั้งรัฐบาลผสม คณะรัฐมนตรีจะประชุมกันในสมัยการประชุมทางการของฝ่ายบริหารที่จัดขึ้นเป็นประจำ แต่ระเบียบวาระการประชุมจะไม่เปิดเผยแก่สาธารณชน การประชุมจะมีผู้เข้าร่วม คือ (1) รัฐมนตรี (2) ปลัดกระทรวง (ข้ารัฐการระดับสูงสุดในแต่ละกระทรวงซึ่งเป็นผู้มีบทบาทเหมือนกับปลัดกระทรวงของอังกฤษ) (3) หัวหน้าสำนักประธานาธิบดีสหพันธ์ (4) คนสนิทของนายกรัฐมนตรี (5) หัวหน้าสำนักหนังสือพิมพ์และสารสนเทศ (6) เลขาธิการคณะรัฐมนตรี และ (7) ผู้เชี่ยวชาญจำนวนหนึ่งที่ได้รับเชิญมาร่วมประชุมเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นการเฉพาะ รัฐมนตรีเท่านั้นถึงจะมีสิทธิลงคะแนนเสียงได้ และจะต้องมีรัฐมนตรีจำนวนกึ่งหนึ่งเข้าประชุมจึงจะครบองค์ประชุม นายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้ดำเนินการประชุมของคณะรัฐมนตรี ตามกฎเกณฑ์ที่ว่าด้วยการกำหนดนโยบายของรัฐบาล และกฎเกณฑ์ที่ว่าด้วยการพิจารณาปัญหาของรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล รัฐมนตรีอาจเสนอร่างกฎหมายในสภาผู้แทนราษฏรก็ได้ และกฎหมายต่าง ๆ จำนวนสามในสี่ มีจุดเริ่มต้นที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่าง ๆ นี่เอง แม้ว่ารัฐมนตรีจะได้รับการคาดหวังว่าจะต้องให้การสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในที่สาธารณะ แต่ก็มีเพียงบางคนเท่านั้นที่เป็นเช่นนี้และก็มีเพียงบางคนถูกนายกรัฐมนตรีตำหนิในที่สาธารณะ นายรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเกือบทุกคนเป็นสมาชิกที่ผ่านการเลือกตั้งในสภาผู้แทนราษฎรและอาจถูกตั้งกระทู้ถามโดยสมาชิกสภาผู้แทนก็ได้

ความสำคัญ ระบบคณะรัฐมนตรีของเยอรมันพัฒนาการมาจากประเพณีการปกครองของเยอรมันที่กำหนดให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจในการอำนวยการกิจกรรมต่าง ๆ ของกลุ่มข้าราชการระดับสูงให้เป็นไปตามนโยบายที่พระมหากษัตริย์ได้ทรงวางไว้แล้ว แต่เนื่องจากปัจจุบันไม่มีพระมหากษัตริย์หรือไม่มีประธานาธิบดีที่มีความเข้มแข็งทางการเมืองแล้ว อำนาจบริหารส่วนใหญ่จึงให้ไปอยู่กับนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีทำการกำหนดนโยบายในลักษณะร่วมกันพิจารณาก็มี หรือเป็นการให้ความยินยอมอย่างเป็นทางการแก่การกำหนดนโยบายของนายกรัฐมนตรีก็มี ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดนโยบายในลักษณะใด ประเพณีของเยอรมันไม่นิยมให้รัฐมนตรีที่เห็นแย้งกับนโยบายของรัฐบาลต้องลาออก รัฐมนตรีไม่ต้องรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฎรเพราะว่ามีนายก รัฐมนตรีเป็นผู้ประสานงานระหว่างคณะรัฐมนตรีกับสภาผู้แทนราษฎรอยู่แล้ว ซึ่งข้อนี้เองก็ได้ส่งผลให้คณะรัฐมนตรีเยอรมันมีเสถียรภาพอย่างมาก อย่างไรก็ตามรัฐบาลรับผิดชอบในความหมายของระบบอังกฤษหาได้มีอยู่ในระบบของเยอรมันไม่ เนื่องจากระบบของเยอรมันนิยมให้ผู้นำฝ่ายบริหารมีความแข็งแกร่ง คือ ยอมให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีทำงานได้โดยอิสระจากฝ่ายนิติบัญญัติยิ่งกว่าระบบอื่นๆ

No comments:

Post a Comment