Google

Thursday, October 22, 2009

Germany : (Federal Republic) : Bonn Constitution

เยอรมนี : (สหพันธ์สาธารณรัฐ) : รัฐธรรมนูญบอนน์

กฎหมายพื้นฐานของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ในปี ค.ศ. 1948 มหาอำนาจตะวันตกที่เข้ายึดครองเยอรมนีต้องการจะพื้นฟูเศรษฐกิจของเยอรมันและต้องการให้เยอรมนีมีบทบาทในการฟื้นฟูยุโรปด้วย จึงได้ตกลงกันให้เยอรมนีตะวันตกทำการปกครองตนเอง รัฐธรรมนูญบอนน์จึงถูกร่างขึ้นโดยสภารัฐสภา (พาร์เลียเมนทารีเคาซิล) ที่เลือกสรรโดยผู้ว่าการฝ่ายทหารของประเทศฝ่ายพันธมิตรและประธานมนตรีของรัฐเยอรมัน 7 รัฐในเขตยึดครองของ ฝ่ายอเมริกัน อังกฤษและฝรั่งเศส ผู้แทนจำนวน 65 คนที่ได้รับการคัดเลือกจากรัฐต่าง ๆ โดยแบ่งสรรปันส่วนกันตามสัดส่วนของความเข้มแข็งในหมู่พรรคคริสตเตียนเดโมแครต พรรคโซเชียลเดโมแครต พรรคฟรีเดโมแครต พรรคเซนทริสต์ พรรคเยอรมัน และพรรคคอมมิวนิสต์ ผู้แทนจากกรุงเบอร์ลินได้รับเชิญด้วยเหมือนกัน รัฐธรรมนูญบอนน์หรือกฎหมายพื้นฐานบอนน์นี้ได้รับความเห็นชอบจากฝ่ายพันธมิตรและได้รับการให้สัตยาบันโดยรัฐต่าง ๆ ในปี ค.ศ. 1949 รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้รับอิทธิพลจากรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐไวมาร์ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ก่อนสมัยฮิตเลอร์ อย่างไรก็ตามจากความต้องการของฝ่ายพันธมิตรที่ต้องการจะให้เป็นรัฐธรรมนูญที่มีระบบจัดการที่ดี มีรายละเอียดและมีความยาวมาก ๆ รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงได้สร้างระบบสหพันธรัฐ ขึ้นมาแทนที่จะเป็นระบบการปกครองแบบรวมอำนาจตามความประสงค์ของบรรดาตัวแทนต่าง ๆ ลักษณะสำคัญของรัฐธรรมนูญบอนน์มีดังนี้ (1) มีสภานิติบัญญัติเป็นระบบสองสภาโดยที่อำนาจนิติบัญญัติส่วนใหญ่อยู่กับสถาบันเดสแทก หรือ สภาล่าง (2) มีชาลเซลเลอร์ (นายกรัฐมนตรี) มีอำนาจมาก และ (3) มีประธานาธิบดีมีอำนาจน้อย ส่วนเมืองหลวงก็ให้จัดตั้งขึ้นที่กรุงบอนน์ จนกว่าจะรวมรัฐที่แบ่งแยกออกจากกันได้แล้วก็ให้กลับไปอยู่ที่กรุงเบอร์ลินตามเดิม (หมายเหตุ เยอรมนีตะวันตกและเยอรมนีตะวันออกได้รวมเป็นประเทศเดียวกัน เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ค.ศ. 1990 รัฐธรรมนูญบอนน์ หรือ กฎหมายพื้นฐาน ฉบับวันที่ 23 พฤษภาคม ค.ศ. 1949 ได้กลายเป็นรัฐธรรมนูญของประชาชนชาวเยอรมันที่มารวมกัน เมื่อ 3 ตุลาคม 1990)

ความสำคัญ รัฐธรรมนูญบอนน์มีชื่อเป็นทางการว่า “กฎหมายพื้นฐาน” ก็เพื่อจะเลี่ยงการยอมรับการแบ่งแยกประเทศเยอรมนีว่าเป็นการถาวร ในคำปรารภของรัฐธรรมนูญระบุว่า สภารัฐสภาในปี ค.ศ. 1948 พิจารณาเห็นว่าตนเป็นผู้แทนของคนเยอรมันทุกคนในอาณาเขตก่อนที่จะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 รวมทั้งดินแดนที่อยู่ในเขตยึดครองของโซเวียต (ต่อมาเรียกว่า สาธารณรัฐประชาธิปไตย เยอรมนี) ในการจัดตั้งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันตะวันตก เพื่อ “จัดระเบียบใหม่ให้แก่ชีวิตทางการเมืองในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ” รัฐธรรมนูญยังระบุด้วยว่า “กฎหมายพื้นฐานนี้จะเลิกบังคับใช้ในวันที่รัฐธรรมนูญที่ได้รับการยอมรับโดยการตกลงใจใหม่ของประชาชนเยอรมันได้นำมาใช้บังคับใช้แล้ว)

No comments:

Post a Comment