Google

Thursday, October 22, 2009

Italy : President of the Republic

อิตาลี : ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐ

ประมุขรัฐแห่งสาธารณรัฐอิตาลี ซึ่งในรูปแบบเป็นรัฐเดี่ยวที่ใช้ระบอบการปกครองแบบรัฐสภาคลาสสิก ประธานาธิบดีซึ่งเป็นผู้อยู่เหนือการเมืองในระบบพรรคเป็นสัญลักษณ์ของความมีเอกภาพแห่งชาติ ประธานาธิบดีได้รับการเลือกตั้งโดยอ้อมให้ดำรงตำแหน่งวาระละ 7 ปี โดยการประชุมร่วมกันของวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกรัฐสภาจะร่วมประชุมกับคณะผู้แทน 3 คนจากแต่ละเขตการเลือกตั้งซึ่งมีทั้งสิ้น 20 เขตในโอกาสเดียวกันนี้ด้วย ในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีนั้นจะต้องได้คะแนนเสียงข้างมากในแบบสองในสาม แต่ถ้าไม่มีผู้ใดได้รับการเลือกตั้งหลังจากหย่อนบัตรเลือกตั้งทั้งสองครั้งไปแล้ว ผู้ที่ได้คะแนนเสียงข้างมากปกติก็พอที่จะได้รับการเลือกตั้งได้ อำนาจตามรัฐธรรมนูญที่ให้ไว้แก่ประธานาธิบดีที่สำคัญมีดังนี้ (1) อำนาจในการกำหนดชื่อประธานคณะรัฐมนตรี (นายกรัฐมนตรี) ชื่อของวุฒิสมาชิกที่จะดำรงตำแหน่งตลอดชีวิตจำนวน 5 คน และชื่อของสมาชิกศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 5 คน (2) อำนาจในการยับยั้งชั่วคราวเพื่อบีบบังคับให้รัฐสภาต้องพิจารณาทบทวนมาตรการใด ๆ ที่ได่ผ่านออกมาแล้ว (3) อำนาจในการให้อำนาจเสนอร่างรัฐบัญญัติต่อรัฐสภา และ (4) อำนาจในการยุบสภา เรียกประชุมสมัยวิสามัญ ให้มีการเลือกตั้ง และจัดการให้ลงประชามติ นอกจากนี้แล้วประธานาธิบดีก็ยังต้องให้สัตยาบันสนธิสัญญา ประกาศใช้กฎหมาย ออกคำสั่งฝ่ายบริหาร และออกระเบียบปฏิบัติ ให้นิรโทษกรรม ให้อภัยโทษ ให้รอการลงโทษ ประกาศสงครามอย่างเป็นทางการ มอบเกียรติยศ และแต่งตั้งรัฐมนตรีบางคนตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรี

ความสำคัญ ประธานาธิบดีมิได้เป็นแค่ประมุขแต่เพียงในนามและเป็นแค่เอกลักษณ์แห่งความมีเอกภาพเท่านั้น แต่ชาวอิตาลีก็ยังตกลงกันไม่ได้เกี่ยวกับบทบาททางการเมืองของประธานาธิบดี ถึงแม้ว่าความมีอำนาจสูงสุดของรัฐสภาจะมีอยู่ในหลักการและการกระทำของประธานาธิบดีจะต้องมีรัฐมนตรีลงนามกำกับด้วย แต่ขอบข่ายของศัพท์ว่า “การกระทำของประธานาธิบดี” ก็ยังไม่กระจ่างอยู่ดี ประธานาธิบดีสามารถใช้อำนาจการริเริ่มทางการเมืองส่วนตัวได้โดยสามารถเขียนสุนทรพจน์ด้วยตนเองได้ สามารถแสดงทัศนะเกี่ยวกับกิจกรรมของตนด้วยตนเองได้ สามารถ จัดแจงเกี่ยวกับการเดินทางไปเยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการได้ และสามารถมีอิทธิพลในการเลือกสรรนายกรัฐมนตรีได้ แต่ด้วยเหตุที่อิตาลีมีระบบพรรคการเมืองที่อ่อนแอและเกิดวิกฤติการณ์ในคณะรัฐมนตรีอยู่บ่อยๆ ประธานาธิบดีจึงมีโอกาสพัฒนาอำนาจของประธานาธิบดีได้ แต่ประธานาธิบดีไม่สามารถอ้างความชอบธรรมในการปกครองว่าตนได้มาจากประชาชนได้ แต่จะกล่าวอ้างได้เฉพาะในนามของตนเองเท่านั้น เกียรติภูมิใดๆ ของตำแหน่งประธานาธิบดีมีขึ้นมาได้ก็โดยอาศัยชื่อเสียงส่วนตัวของบุคคลที่เข้ามาดำรงตำแหน่งนี้เป็นหลัก

No comments:

Post a Comment