Google

Friday, October 23, 2009

Britain : Cabinet Government

อังกฤษ : การปกครองระบบรัฐสภา

ระบบการปกครองที่อิงหลักการรวมอำนาจบริหารและอำนาจนิติบัญญัติให้มาอยู่ในมือของคณะรัฐมนตรีที่ทำงานโดยสอดประสานไปกับหลักความมีอำนาจสูงสุดของรัฐสภา คณะรัฐมนตรีซึ่งตามปกติจะได้รับการคัดเลือกจากบรรดาผู้นำของพรรคการเมืองที่ครองเสียงข้างมากจะมีความรับผิดชอบร่วมกัน (1) ในการกำหนดและดำเนินนโยบายทั้งภายในและต่างประเทศ (2) ในการประสานงานของหน่วยงานต่างๆของภาครัฐบาล (3) ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ และ (4) ในการธำรงวัตถุประสงค์ของนโยบายระยะยาวเอาไว้ มาตรการต่าง ๆ ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้วนั้นจะถูกนำเสนอและปกป้องในสภาสามัญโดยคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง มาตรการต่างๆปกติแล้วจะผ่านสภาสามัญไปได้ด้วยดีเพราะว่าคณะรัฐมนตรีเป็นผู้นำพรรคที่คุมสภาสามัญอยู่แล้ว แต่เนื่องจากพรรคฝ่ายค้านมักจะจ้องฉวยโอกาสจากความแตกแยกภายในคณะรัฐบาลไปเป็นประโยชน์แก่ฝ่ายตนเสมอ ดังนั้นหลักการของระบบนี้ก็จึงมีธรรมเนียมให้คณะรัฐมนตรีต้องมีเอกภาพและมีความรับผิดชอบร่วมกันต่อการตกลงใจทุกอย่าง แม้ว่าในทางปฏิบัติจริงนั้นจะยังคงให้รัฐมนตรีต้องรับผิดชอบเป็นรายบุคคลก็ตาม หากคณะรัฐมนตรีแพ้มติความไม่ไว้วางใจในสภาสามัญก็จะต้องลาออกทั้งคณะ ซึ่งเมื่อเกิดกรณีนี้ขึ้นมาพระมหากษัตริย์ก็อาจเรียกร้องให้ผู้นำฝ่ายค้านหรือรัฐบุรุษ ชั้นนำอื่น ๆ มาจัดตั้งรัฐบาลใหม่หรือไม่นายกรัฐมนตรีก็อาจจะกราบบังคมทูลพระมหากษัตริย์ให้ทรง ยุบสภาไปเลยก็ได้ หากเป็นเช่นกรณีหลังนี้ก็อาจจะมีการเลือกตั้งทั่วไปเพื่อเป็นการตัดสินว่าจะให้พรรคการเมืองของนายกรัฐมนตรีคนเดิมกลับมามีอำนาจอีก หรือว่าจะเลือกพรรคการเมืองใหม่ที่ครองเสียงข้างมากให้มาจัดตั้งรัฐบาลใหม่

ความสำคัญ อำนาจเด็ดขาดของสภาสามัญที่จะล้มล้างรัฐบาลนั้นจะถูกคานด้วยอำนาจของรัฐบาลในอันที่จะยุบสภา แม้ว่าในทางทฤษฎีก็เป็นไปได้ที่คณะรัฐมนตรีจะใช้วิธีการข่มขู่ว่าจะตอบโต้ด้วยวิธีการยุบสภาแต่ในความเป็นจริงแล้วจะเป็นเช่นนั้นได้ก็ต่อเมื่อสมาชิกในพรรคมีวินัยและมีความจงรักภักดีต่อพรรคจนสามารถครองเสียงข้างมากอยู่ต่อไปได้ แต่ก็ไม่มีรัฐบาลชุดใดในศตวรรษนี้ที่ถูกล้มล้างด้วยการแปรพักตร์ในหมู่สมาชิกของพรรคในสภาสามัญ การเปลี่ยนแปลงในรัฐบาลที่เคยเกิดขึ้นมาได้นั้นเกิดขึ้นได้เมื่อพรรคที่ครองอำนาจพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งทั่วไป การเลือกตั้งทั่วไปจะต้องจัดให้มีขึ้นในทุก 5 ปี เว้นเสียแต่นายกรัฐมนตรีจะให้มีการเลือกตั้งทั่วไปเร็วกว่ากำหนดเพื่อต่ออายุความชอบธรรมในการปกครองพรรคตนเองต่อไปอีก ลักษณะสำคัญของการปกครองในระบอบรัฐสภาของอังกฤษก็คือความรับผิดชอบที่จะเสนอแนะและดำเนินนโยบายจะอยู่กับนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีที่ได้รับการคัดเลือกจากรัฐสภาและก็จะต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภานี้ด้วย ระบบรัฐสภานี้จะช่วยไม่ให้เกิดทางตันระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารอย่างที่เกิดขึ้นในระบบประธานาธิบดีของอเมริกัน เมื่อฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติถูกควบคุมโดยพรรคการเมืองต่างพรรคกัน

No comments:

Post a Comment