Google

Thursday, October 22, 2009

Germany : (Federal Republic) : Bundestag (Federal Diet)

เยอรมนี (สหพันธ์สาธารณรัฐ) : บุนเดสแทก (สภาผู้แทนราษฎร)

สภาล่างแต่มีอำนาจในทางนิติบัญญัติมากของรัฐสภาเยอรมันตะวันตกที่เป็นแบบสองสภา บุนเดสแทกประกอบด้วยสมาชิกที่มีสิทธิลงคะแนนเสียงประมาณ 500 คนที่แบ่งสรรปันส่วนโดยยึดหลักประชากรในหมู่รัฐที่อยู่ในสหภาพสหพันธรัฐ นอกจากนี้แล้ว ก็ยังมีผู้แทนจากเบอร์ลินอีกประมาณ 20 คน ซึ่งจะเข้าร่วมในกิจกรรมทางนิติบัญญัติทั้งปวงแต่ก็จะไม่มีสิทธิลงคะแนนเสียงในการประชุมเต็มคณะ ในเขตลงคะแนนเสียงแต่ละเขตเลือกตั้งต่าง ๆ กึ่งหนึ่งจะได้รับเลือกตั้งโดยตรงกับอีกกึ่งหนึ่งจะได้รับเลือกตั้งโดยระบบมีผู้แทนตามสัดส่วน ในกฎหมายพื้นฐานระบุไว้ว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งจะต้องมีอายุอย่างน้อย 25 ปี และเป็นผู้ที่ได้รับการคัดเลือก “โดยการเลือกตั้งที่มีความเป็นสากล (ทั่วไป) โดยตรง มีความเท่าเทียมกัน และเป็นการลับ” เป็นผู้แทนของประชาชนทั้งประเทศ และไม่เป็นผู้ “รับคำสั่งและคำบงการจากใคร แต่เป็นผู้ที่กระทำการโดยมโนธรรมของตนเอง” สภาผู้แทนราษฎรมีการจัดตามแบบของฝรั่งเศสโดยยึดหลักอุดมการณ์ทางการเมืองจากฝ่ายซ้ายไปหาฝ่ายขวา แต่จะถูกครอบงำโดยพรรคที่มีอุดมการณ์กลางๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือพรรคสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียน และพรรคสังคมประชาธิปไตย อายุของสภาผู้แทนราษฎรคือ 4 ปีเว้นเสียแต่ว่านายกรัฐมนตรีจะเรียกร้องให้ยุบสภาและไม่ได้รับคะแนนเสียงความไว้วางใจ ในกรณีเช่นนี้ประธานาธิบดีแห่งชาติโดยคำแนะนำของนายกรัฐมนตรีก็จะยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งทั่วไปและทำการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ แม้ว่าการอภิปรายในสภาอาจจะมีความสำคัญมากว่าในสหรัฐอเมริกา แต่กิจกรรมทางด้านนิติบัญญัติและการประนีประนอมจะกระทำโดยคณะกรรมาธิการประจำหลายสิบคณะ ซึ่งสมาชิกของแต่ละคณะจะมีระหว่าง 15-30 คน และกลุ่มพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรจะมีผู้แทนไปประจำตามกรรมาธิการคณะต่าง ๆ ตามสัดส่วนของคะแนนเสียงที่ฝ่ายตนมีอยู่ในสภา งานของสภาผู้แทนราษฎรส่วนใหญ่จะถูกจัดและควบคุมโดยคณะกรรมาธิการควบคุมจัดการจำนวน 20 คน คือ สภาอาวุโสอันประกอบด้วยประธานสภา รองประธานสภา และผู้นำกลุ่มของพรรคการเมืองในรัฐสภา สภาอาวุโสนี้จะให้คำแนะนำผู้ที่จะเป็นประธาน เสนอแนะลำดับเรื่อง (ในระเบียบวาระการประชุมสภา) และจัดสรรเวลาในการอภิปราย หน้าที่ของสภาอาวุโสนี้เทียบได้กับหน้าที่ของคณะกรรมาธิการพิจารณข้อบังคับของสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐอเมริกา เมื่อสภาผู้แทนเลือกนายกรัฐมนตรีไปแล้ว อำนาจที่จะควบคุมนายกรัฐมนตรีจะมีอยู่อย่างจำกัดมาก แม้ว่าในขั้นสุดท้ายนายกรัฐมนตรีอาจถูกถอดถอนได้ก็จริงแต่จะต้องเป็นการถอดถอนโดยระเบียบปฏิบัติที่เรียกว่า “การลงคะแนนเสียงเชิงสร้างสรรค์” อันเป็นวิธีที่สภาผู้แทนลงคะแนนเสียงเรียกร้องให้ประธานาธิบดีแห่งชาติถอดถอนนายกรัฐมนตรี แต่ในขณะเดียวกันนั้นก็จะต้องเลือกบุคคลที่จะมาเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนี้เอาไว้ด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันมิให้เกิดความไร้เสถียรภาพของฝ่ายบริหารและเกิดวิกฤติการณ์ทางคณะรัฐมนตรีขึ้นมาได้

ความสำคัญ โครงสร้างของสภาผู้แทนราษฎรของเยอรมันตะวันตกซึ่งจัดตามบทบัญญัติที่มีอยู่ ในกฎหมายพื้นฐานนี้สะท้อนให้เห็นถึงการลอกเลียนแบบจากประสบการณ์การทำงานของระบบ การเมืองของอังกฤษ ฝรั่งเศสและอเมริกัน แต่ที่ได้มาจากจารีตประเพณีการปกครองดั้งเดิมของเยอรมันก็มีอยู่มากเหมือนกัน การณ์จึงปรากฏว่าสภาผู้แทนราษฎรนี้เป็นเครื่องมือที่นำมาใช้เพื่อพัฒนาประชาธิปไตยระบอบรัฐสภาที่แท้จริงในเยอรมนี แต่ในขณะเดียวกันนั้นจากการที่มีการสร้างให้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมีอำนาจมากที่สุดในระบบรัฐสภาก็ดี และจากการที่มีระบบการบริหารรัฐการแผ่นดินแบบรวมอำนาจไว้กับส่วนกลางมาก ๆ ก็ดี ก็สะท้อนให้เห็นได้เป็นอย่างดีว่าการใช้อำนาจนิยมในการปกครองยังไม่หมดไปจากวิถีชีวิตของคนเยอรมัน

No comments:

Post a Comment