Google

Friday, October 23, 2009

Britain : Cabinet

อังกฤษ : คณะรัฐมนตรี

กลุ่มนักการเมืองที่เป็นแกนกลางของการปกครองของอังกฤษ คณะรัฐมนตรีนี้จะมีขนาดแตกต่างกันไปโดยมีจำนวนรัฐมนตรีตั้งแต่ 16 คนขึ้นไปจนถึง 23 คน จะได้รับการคัดเลือกโดยนายกรัฐมนตรีจากหมู่สมาชิกระดับแนวหน้าของพรรคการเมืองที่ครองเสียงข้างมากในสภาสามัญ และปกติจะมีสมาชิกของสภาขุนนางรวมอยู่ในคณะรัฐมนตรีจำนวน 2-3 คนด้วย และตามปกติในคณะรัฐมนตรีจะมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและเครือจักรภพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและวิทยาศาสตร์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสำคัญอื่น ๆ ส่วนฝ่ายค้านอย่างเป็นทางการในรัฐสภานั้นก็จะประกอบกันเป็นคณะรัฐมนตรีเงา ทำหน้าที่เป็นแกนนำในการท้าทายนโยบายและการนำนโยบายไปปฏิบัติของฝ่ายรัฐบาล

ความสำคัญ ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีได้รับการรับรองในบทบัญญัติของกฎหมาย แต่กุญแจที่จะไขไปสู่อำนาจของนายกรัฐมนตรีและของคณะรัฐมนตรีเป็นไปตามหลักจารีตประเพณีและข้อเท็จจริงทางการเมือง คณะรัฐมนตรีจะเป็นฝ่ายกำหนดนโยบายในด้านความสัมพันธ์กับรัฐสภาโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นส่วนของพรรคการเมืองที่ครองเสียงข้างมากและในส่วนที่เกี่ยวกับกิจการสาธารณะ นอกจากนี้แล้วคณะรัฐมนตรีก็ยังต้องควบคุมกิจการอื่น ๆ ของรัฐบาล ทำการควบคุมการบริหารงานของส่วนกลาง และควบคุมด้านการเงินการคลังของรัฐบาลผ่านทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบบการเมืองของอังกฤษไม่เหมือนกับระบบการเมืองของสหรัฐอเมริกาตรงที่ระบบการเมืองของสหรัฐฯนั้นอำนาจและความรับผิดชอบทางการบริหารจะไปรวมอยู่ในที่เดียวกันและอยู่กับบุคคลคนเดียว แต่ระบบคณะรัฐมนตรีของอังกฤษนี้จะให้คณะผู้ปกครองทำหน้าที่รับผิดชอบอย่างมีเอกภาพและร่วมกันแม้ว่าในช่วงไม่กี่ปีมานี้ยากที่จะคงความมีเอกภาพนี้ไว้ก็ตาม ถึงแม้ว่าระบบคณะรัฐมนตรีของอังกฤษจะกำหนดให้มีคณะผู้บริหารหลายคนและให้ทั้งคณะรับผิดชอบร่วมกัน แต่ตัวนายกรัฐมนตรีถือว่าเป็นคนแรกในหมู่คนที่มีความเท่าเทียมกัน (ภาษาละตินว่า ไพรมัส อินเทอร์ พาริส)

Britain : Cabinet Government

อังกฤษ : การปกครองระบบรัฐสภา

ระบบการปกครองที่อิงหลักการรวมอำนาจบริหารและอำนาจนิติบัญญัติให้มาอยู่ในมือของคณะรัฐมนตรีที่ทำงานโดยสอดประสานไปกับหลักความมีอำนาจสูงสุดของรัฐสภา คณะรัฐมนตรีซึ่งตามปกติจะได้รับการคัดเลือกจากบรรดาผู้นำของพรรคการเมืองที่ครองเสียงข้างมากจะมีความรับผิดชอบร่วมกัน (1) ในการกำหนดและดำเนินนโยบายทั้งภายในและต่างประเทศ (2) ในการประสานงานของหน่วยงานต่างๆของภาครัฐบาล (3) ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ และ (4) ในการธำรงวัตถุประสงค์ของนโยบายระยะยาวเอาไว้ มาตรการต่าง ๆ ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้วนั้นจะถูกนำเสนอและปกป้องในสภาสามัญโดยคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง มาตรการต่างๆปกติแล้วจะผ่านสภาสามัญไปได้ด้วยดีเพราะว่าคณะรัฐมนตรีเป็นผู้นำพรรคที่คุมสภาสามัญอยู่แล้ว แต่เนื่องจากพรรคฝ่ายค้านมักจะจ้องฉวยโอกาสจากความแตกแยกภายในคณะรัฐบาลไปเป็นประโยชน์แก่ฝ่ายตนเสมอ ดังนั้นหลักการของระบบนี้ก็จึงมีธรรมเนียมให้คณะรัฐมนตรีต้องมีเอกภาพและมีความรับผิดชอบร่วมกันต่อการตกลงใจทุกอย่าง แม้ว่าในทางปฏิบัติจริงนั้นจะยังคงให้รัฐมนตรีต้องรับผิดชอบเป็นรายบุคคลก็ตาม หากคณะรัฐมนตรีแพ้มติความไม่ไว้วางใจในสภาสามัญก็จะต้องลาออกทั้งคณะ ซึ่งเมื่อเกิดกรณีนี้ขึ้นมาพระมหากษัตริย์ก็อาจเรียกร้องให้ผู้นำฝ่ายค้านหรือรัฐบุรุษ ชั้นนำอื่น ๆ มาจัดตั้งรัฐบาลใหม่หรือไม่นายกรัฐมนตรีก็อาจจะกราบบังคมทูลพระมหากษัตริย์ให้ทรง ยุบสภาไปเลยก็ได้ หากเป็นเช่นกรณีหลังนี้ก็อาจจะมีการเลือกตั้งทั่วไปเพื่อเป็นการตัดสินว่าจะให้พรรคการเมืองของนายกรัฐมนตรีคนเดิมกลับมามีอำนาจอีก หรือว่าจะเลือกพรรคการเมืองใหม่ที่ครองเสียงข้างมากให้มาจัดตั้งรัฐบาลใหม่

ความสำคัญ อำนาจเด็ดขาดของสภาสามัญที่จะล้มล้างรัฐบาลนั้นจะถูกคานด้วยอำนาจของรัฐบาลในอันที่จะยุบสภา แม้ว่าในทางทฤษฎีก็เป็นไปได้ที่คณะรัฐมนตรีจะใช้วิธีการข่มขู่ว่าจะตอบโต้ด้วยวิธีการยุบสภาแต่ในความเป็นจริงแล้วจะเป็นเช่นนั้นได้ก็ต่อเมื่อสมาชิกในพรรคมีวินัยและมีความจงรักภักดีต่อพรรคจนสามารถครองเสียงข้างมากอยู่ต่อไปได้ แต่ก็ไม่มีรัฐบาลชุดใดในศตวรรษนี้ที่ถูกล้มล้างด้วยการแปรพักตร์ในหมู่สมาชิกของพรรคในสภาสามัญ การเปลี่ยนแปลงในรัฐบาลที่เคยเกิดขึ้นมาได้นั้นเกิดขึ้นได้เมื่อพรรคที่ครองอำนาจพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งทั่วไป การเลือกตั้งทั่วไปจะต้องจัดให้มีขึ้นในทุก 5 ปี เว้นเสียแต่นายกรัฐมนตรีจะให้มีการเลือกตั้งทั่วไปเร็วกว่ากำหนดเพื่อต่ออายุความชอบธรรมในการปกครองพรรคตนเองต่อไปอีก ลักษณะสำคัญของการปกครองในระบอบรัฐสภาของอังกฤษก็คือความรับผิดชอบที่จะเสนอแนะและดำเนินนโยบายจะอยู่กับนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีที่ได้รับการคัดเลือกจากรัฐสภาและก็จะต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภานี้ด้วย ระบบรัฐสภานี้จะช่วยไม่ให้เกิดทางตันระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารอย่างที่เกิดขึ้นในระบบประธานาธิบดีของอเมริกัน เมื่อฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติถูกควบคุมโดยพรรคการเมืองต่างพรรคกัน

Britain : Conservative Party

อังกฤษ : พรรคอนุรักษนิยม

หนึ่งในสองพรรคการเมืองใหญ่ในการเมืองของอังกฤษ พรรคอนุรักษนิยมแต่เดิมมาเป็นพรรคของพวกอภิสิทธิชนและของพวกชนชั้นกลาง โดยสืบสานต่อมาจากพวกโทรีโบราณ ด้วยเหตุนี้ในบางครั้งเราเรียกชื่อพวกนี้อีกอย่างหนึ่งว่าพวกโทรี พรรคอนุรักษนิยมมักจะได้คะแนนเสียงจากผู้ลงคะแนนเสียงทุกสาขาอาชีพ พรรคอนุรักษนิยมดำเนินงานอยู่ภายใต้หัวหน้าพรรคซึ่งเป็นผู้ที่จะใช้อำนาจส่วนตัวทำการควบคุมกิจการต่าง ๆ ของพรรคอย่างกว้างขวางมาก หัวหน้าพรรคจะเป็นผู้กำหนดนโยบายของพรรค ทำการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ชั้นสูงของพรรค เลือกเฟ้นคณะรัฐมนตรีเงาในเมื่อพรรคเป็นฝ่ายค้านและก็ไม่ต้องพึ่งการเลือกตั้งใหม่ประจำปีของพรรคในรัฐสภาเพื่อดำรงตำแหน่งของตนไว้ ในภายนอกรัฐสภานั้นพรรคอนุรักษนิยมจะดำเนินการผ่านทางสายงานของสถาบันต่าง ๆ ต่อไปนี้ คือ (1) สมาคมเลือกตั้งระดับท้องถิ่น (2) สหภาพแห่งชาติและการประชุมประจำปีของสหภาพ (3) สภาส่วนกลาง (4) คณะกรรมาธิการฝ่ายบริหาร และ (5) หัวหน้าพรรคซึ่งอยู่ในตำแหน่งสูงสุดในโครงสร้างของพรรค ส่วนในรัฐสภานั้นหัวหน้าพรรคก็ยังสามารถมีอำนาจเหนือพรรคในรัฐสภา (คือ สมาชิกรัฐสภาของพรรคอนุรักษนิยมทุกคน) ตราบเท่าที่หัวหน้าพรรคยังได้รับความไว้วางใจจากสมาชิกฯ และยังไม่มีคู่แข่งมาชิงเอาตำแหน่งไปเสียก่อน


ความสำคัญ พรรคอนุรักษนิยมนี้เมื่อเทียบกับพรรคการเมืองอื่น ๆ ก็จะเห็นว่าเป็นพรรคที่มีความยืดหยุ่นและมีความหลากหลายในปรัชญาและแนวทางปฎิบัติ แต่ท่าทีนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปมากในช่วงที่นางมาร์กาเรต แทตเชอร์เป็นผู้นำพรรค จากประวัติศาสตร์ที่เคยเกี่ยวพันกับสถาบันกษัตริย์มาอย่าง ลึกล้ำจึงทำให้พรรคอนุรักษนิยมต้องการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์เอาไว้ด้วยเห็นว่าจะเอื้อประโยชน์สูงสุดแก่การเมืองของอังกฤษ พรรคอนุรักษนิยมซึ่งเป็นพรรคที่ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์และสถาบันศาสนาในช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 20 ได้มีนโยบายให้การสนับสนุนผลประโยชน์ของภาคธุรกิจและภาคเกษตรกรรม พรรคอนุรักษนิยมได้ครอบงำการเลือกตั้งในอังกฤษมาตลอดช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 นี้ จะมีว่างเว้นบ้างก็เพียงบางช่วงเท่านั้นเอง

Britain : Constitution

อังกฤษ : รัฐธรรมนูญ

ประมวลหลักการพื้นฐานที่ (1) ใช้ดำเนินการแบ่งปันและการใช้อำนาจ (2) ใช้กำหนดองค์กรพื้นฐานของการปกครองและการดำเนินงานขององค์กรเหล่านี้ และ (3) ใช้กำหนดสัมพันธภาพระหว่างปัจเจกบุคคลกับรัฐ ในประเทศอังกฤษรัฐธรรมนูญประกอบด้วย (1) เอกสารทางประวัติศาสตร์ต่าง ๆ ที่เป็นตัวกำหนดระบบมาแต่ครั้งอดีต เช่น แม็กนาคาร์ตา (ค.ศ. 1215) เพตติชันออฟไรท์ (ค.ศ. 1628) บิลล์ออฟไรท์ (1689) แอคท์ออฟเซทเทิลเมนท์ (1701) รีฟอร์มแอคท์และพาร์เลียเมนท์แอคท์ ค.ศ. 1911 (2) บทบัญญัติทางกฎหมายที่มีความสำคัญในระดับพื้นฐาน เช่น บทบัญญัติว่าด้วยสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง (3) คำตัดสินของศาลที่เป็นการตีความและให้ความกระจ่างเกี่ยวกับหลักการของรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือหลักการที่อิงหลักคอมมอนลอว์ (ในอังกฤษจะไม่มีจูดิเชียลรีวิว =การพิจารณาทบทวนโดยศาล) อย่างเช่นที่มีในระบบอเมริกันเพราะระบบของอังกฤษเป็นแบบรัฐสภามีอำนาจสูงสุด และ (4) ประเพณีหรือจารีตแห่งรัฐธรรมนูญ ซึ่งอย่างหลังคือข้อ (4) นี้จะไม่มีการเขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษรและทั้งไม่สามารถนำไปให้ศาลบังคับใช่ได้ด้วย แต่ก็เป็นบรรทัดฐานที่มีความสำคัญผูกมัดจิตใจของสาธารณชนให้ต้องปฏิบัติตาม บรรทัดฐานของจารีตประเพณีอย่างหนึ่งก็คือ รัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีอาจต้องลาออกเมื่อไม่เห็นด้วยอย่างเปิดเผยกับนโยบายของรัฐบาล


ความสำคัญ ประชาธิปไตยทุกรูปแบบล้วนมีรัฐธรรมนูญที่มีเครื่องมือขั้นพื้นฐานดังกล่าวข้างต้นสำหรับจัดตั้งและธำรงระบบอย่างใดอย่างหนึ่งเอาไว้ ข้อแตกต่างอย่างสามัญระหว่างรัฐธรรมนูญของ สหรัฐอเมริกาและรัฐธรรมนูญของอังกฤษที่บอกว่าของสหรัฐฯเป็นแบบมีลายลักษณ์อักษรส่วนของอังกฤษเป็นแบบไม่มีลายลักษณ์อักษรนั้น เป็นการเปรียบเทียบในแบบผิวเผินเท่านั้น ในระบบของอังกฤษนั้นมีหลักการสำคัญอย่างหนึ่งคือผู้คุ้มครองเด็ดขาดของรัฐธรรมนูญได้แก่รัฐสภาซึ่งมีอำนาจ สูงสุด สามารถเปลี่ยนแปลงบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญได้ในทำนองเดียวกับการเปลี่ยนแปลงกฎหมายอื่นใด ผลจากหลักการนี้เองทำให้ในอังกฤษไม่มีจูดิเชียลรีวิว (การพิจารณาทบทวนโดยศาล) เหมือนอย่างที่มีในระบบอเมริกัน ระบบรัฐธรรมนูญของอังกฤษได้ผ่านวิวัฒนาการมาหลายศตวรรษและทำหน้าที่เป็นแม่แบบสำหรับสังคมประชาธิปไตยต่าง ๆ ในหลายประเทศ

Britain : Crown

อังกฤษ : พระมหากษัตริย์

เอกภาพทางกฎหมายและทางสัญลักษณ์ของฝ่ายบริหารในระบอบการปกครองของอังกฤษ พระมหากษัตริย์ประกอบด้วยองค์กษัตริย์ คณะรัฐมนตรี และข้าราชการพลเรือน อำนาจของพระมหากษัตริย์ประกอบด้วยพระราชอำนาจที่ยังคงเหลืออยู่และพระราชอำนาจที่ทางรัฐสภาทูลเกล้าฯถวายในภายหลัง พระมหากษัตริย์จะทำหน้าที่ (1) กำหนดและดำเนินนโยบายแห่งชาติ (2) ออกคำสั่งฝ่ายบริหารและคำแนะนำของฝ่ายบริหาร (3) บริหารสาธารณสมบัติ และ (3) ดำเนินความสัมพันธ์ต่างประเทศ อำนาจหน้าที่ของพระมหากษัตริย์นี้จะนำมาใช้เพื่อ (1) ดำเนินการทางฝ่ายบริหารที่สำคัญ ๆ (2) แต่งตั้งตุลาการและเจ้าหน้าที่สำคัญของรัฐบาล (3) ประกาศสงคราม และ (4) ประกาศอภัยโทษและชะลอการลงโทษ

ความสำคัญ กษัตริย์เป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจทางการเมืองของพระมหากษัตริย์ แต่ในความเป็นจริงนั้นอำนาจนี้อยู่ในมือของคณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี การตกลงใจและคำสั่งทั้งหลายโดยทางเทคนิคนั้นมาจากองค์พระมหากษัตริย์ แต่ในความเป็นจริงนั้นพระมหากษัตริย์มิได้ทรงใช้อำนาจพระมหากษัตริย์นี้ด้วยพระองค์เอง แต่ทรงใช้อำนาจนี้โดยคำแนะนำของบรรดารัฐมนตรีของพระองค์

Britain : Foreign Secretary

อังกฤษ : รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

สมาชิกชั้นแนวหน้าของคณะรัฐมนตรีที่รับผิดชอบในด้านการกำหนดและการดำเนินนโยบายต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะทำการปกป้องนโยบายด้านนี้ของรัฐบาลในสภาสามัญหรือในสภาขุนนาง โดยจะเข้าร่วมในการอภิปรายและในกรณีที่อยู่ในสภาสามัญก็จะคอยตอบโต้การโจมตีนโยบายและคอยตอบกระทู้ถามเมื่อมีการตั้งกระทู้ถาม นอกจากนี้แล้วรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศก็จะเป็นผู้บริหารกระทรวงการต่างประเทศและเป็นผู้แทนประเทศเข้าประชุมในระดับระหว่างประเทศต่าง ๆ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะมีผู้ช่วย คือ รัฐมนตรีช่วยว่าการ 2 คน รัฐมนตรีอาวุโสน้อย 2 คน (ทั้งสองคนเป็น สมาชิกสภาสามัญ) และปลัดกระทรวง 1 คน ซึ่งปลัดกระทรวงผู้นี้คือข้าราชการพลเรือนมืออาชีพที่มีตำแหน่งสูงสุดในกระทรวงการต่างประเทศ

ความสำคัญ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศปกติแล้วจะเป็นบุคคลที่มีความสำคัญทางการเมืองมาก ๆ เป็นรัฐมนตรีที่ต้องรับผิดชอบต่อคณะรัฐมนตรี ต่อรัฐสภาและต่อนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะมีอิสระในการทำงานมากน้อยอย่างไรขึ้นอยู่กับว่าเขาเป็นบุคคลมีความสัมพันธ์กับนายกรัฐมนตรี เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของสาธารณชนและมีอิทธิพลทางการเมืองเป็นอย่างไรบ้าง อย่างไรก็ตามมักเป็นไปได้ที่นายกรัฐมนตรีจะเข้าควบคุมและชี้นำนโยบายต่างประเทศในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งได้ ความต่อเนื่องในนโยบายต่างประเทศของอังกฤษมีอยู่ได้ก็เพราะมีการปรึกษาหารือกันระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกับข้าราชการประจำของกระทรวง ซึ่งข้าราชการประจำก็จะรับผิดชอบในการให้คำแนะนำและให้คำเตือนแต่ก็ไม่ถึงกับไปช่วยสร้างนโยบายแทนรัฐมนตรี กระทรวงการต่างประเทศเป็นกระทรวงอยู่ในระดับสูงมาก สามารถเป็นฐานส่งผู้นำพรรคการเมืองอังกฤษขึ้นไปดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ และในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่ว่าจะเป็นนายอีเดน นายแมคมิลแลน นายโฮม และนายคัลลักแฮน ล้วนเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศทั้งนั้น

Britain : Governor-General

อังกฤษ : ผู้สำเร็จราชการ

ผู้แทนส่วนพระองค์ขององค์พระมหากษัตริย์ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในดินแดนอาณานิคมที่ยังเหลืออยู่ของอังกฤษและในประเทศในเครือจักรภพอังกฤษที่มิได้เป็นสาธารณรัฐ องค์พระมหากษัตริย์จะทรงขอคำแนะนำจากรัฐมนตรีท้องถิ่นก่อนที่จะทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการ

ความสำคัญ ผู้สำเร็จราชการเป็นสัญลักษณ์ของความมีเอกภาพในเครือจักรภพและในจักรวรรดิอังกฤษ ในอดีตจะแต่งตั้งคนอังกฤษที่มีความโดดเด่นมากๆเป็นผู้สำเร็จราชการ แต่ปัจจุบันผู้สำเร็จราชการนี้นิยมคัดเลือกจากบุคคลสำคัญ ๆ ในท้องถิ่นนั้น ๆ ทั้งนี้ก็อยู่ที่ว่าการพัฒนาทางการเมืองของพื้นที่แห่งนั้นเป็นอย่างไร ผู้สำเร็จราชการไม่ได้เป็นตัวแทนของคณะรัฐมนตรีในประเทศเครือจักรภพที่ได้รับเอกราชไปแล้ว เพียงแต่เป็นผู้ใช้พระราชอำนาจโดยคำแนะนำของรัฐบาลท้องถิ่นเท่านั้นเอง